สกู๊ปหน้า 1: รัฐไทยออกโรง ปราม‘คริปโทฯ’

สกู๊ปหน้า 1: รัฐไทยออกโรง ปราม‘คริปโทฯ’

กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่นิยมกันอย่างมาก โดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี ที่ผู้คนนอกจากจะนำไปลงทุนแล้ว ยังมีบางส่วนที่นำไปแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าและบริการต่างๆ

โดยเฉพาะช่วงนี้ กิจการร้านค้าประกาศรับการชำระเงินดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย อย่างเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ประกาศรับชำระสินค้า 7 สกุลเงินดิจิทัล และร้านกาแฟอินทนิน
ในเครือปั๊มน้ำมันบางจาก ที่รับชำระสินค้า 3 สกุลเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ทางด้านแบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว โดย สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ออกมาระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ

เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้าผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย

Advertisement

ในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้

ปัจจุบัน ธปท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น

โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เคยตอบคำถามเรื่องการนำคริปโทเคอเรนซีไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้าว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดย ธปท.ได้ออกมาระบุว่า การใช้คริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ในลักษณะที่คู่สัญญาที่ตกลงแลกเปลี่ยนกันเอง ผู้เกี่ยวข้องและผู้ใช้ต้องศึกษากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอง เป็นคำตอบในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ด้าน พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน ระบุว่า ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ระบุว่า คริปโทเคอร์เรนซี เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ถือว่าเป็นเงินตรา จึงให้ไปอยู่ในการกำกับของ ก.ล.ต.เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า ธปท.จึงไม่มีอำนาจห้ามการรับชำระเงินคริปโทฯ แต่ไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้

การที่ ธปท. ออกมาเตือน เพราะว่าเงินตราไม่ควรมีความผันผวนมากเกินไป แต่ทางฝั่งร้านค้าที่ออกมารับเงินคริปโทฯ เห็นว่าเป็นกิมมิค (Gimmick) หรือลูกเล่นทางการตลาด เพราะว่าทางฝั่งร้านค้าจะให้ลูกค้าแลกเปลี่ยนเงินคริปโทฯ ให้เป็นเงินสกุลบาท ก่อนรับชำระอยู่แล้ว ทางร้านค้าคิดราคาสินค้าเป็นเงินบาท ไม่ได้มีการคิดราคาสินค้าเป็นคริปโทฯ ซึ่งทางฝั่งร้านค้าไม่ได้เสียประโยชน์จากตรงนี้อยู่แล้ว

แต่ทางฝั่งผู้บริโภคเองต้องมีการสำรองคริปโทฯต่างๆ ไว้ให้เพียงพอ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาการชำระเงินจริงแล้ว มูลค่าคริปโทฯที่ถืออยู่จะสามารถซื้อสินค้าเป็นสกุลเงินบาทได้รึเปล่าในทางกฎหมายการชำระเงินคริปโทฯ ไม่ได้หมายถึงการชำระหนี้ที่เป็นเงิน แต่เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ ธปท.ไม่สามารถเข้าไปบังคับห้ามการกระทำดังกล่าวได้ สิ่งที่ ธปท.ทำได้คือการไม่สนับสนุนเพราะเป็นไปตามหน้าที่

“ถ้าหากมีการใช้เงินคริปโทฯโดยตรงกันจำนวนมาก จะส่งผลกระทบเสถียรภาพการเงินของประเทศ ทำให้ภาครัฐสูญเสียอำนาจการออกนโยบายการเงินและการคลังของประเทศ เช่นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจ กลายเป็นว่า ธปท.ไม่สามารถควบคุมค่าเงินบาทได้ ไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ต้องมี ธปท.แล้วก็ได้ แต่ประชาชนก็ไปรับความเสี่ยงระบบเงินตรากันเอาเองŽ ทนายพีรภัทรแสดงความเห็น

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด ออกมาระบุว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.บริษัทที่ทำ ICO portal (ผู้ให้บริการโทเคน) ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงิน ในการตรวจสอบข้อมูลการออก ICO ของบริษัทที่เสนอขายโทเคน (due diligence) และเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ผ่านบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเซท, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ผ่านบริษัท โทเคน เอกซ์,
บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) ผ่านบริษัท X Spring Digital,บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น(JTS),บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) (เข้าไปถือหุ้นในบริษัทคริปโทมายด์)

2.บริษัทที่รับคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคน เพื่อใช้ชำระบัญชีสินค้าบริการ ซึ่งประกอบด้วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น แสนสิริ (SIRI), อนันดา
(ANAN),ออริจิ้น (ORI), แอสเซทไวส์ (ASW),เอสซี แอสเสท (SC), เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MJD) รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ล่าสุด บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่รับชำระคริปโทผ่านร้านกาแฟอินทนิน (Inthanin) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

3.บริษัทที่เข้าไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง เช่น บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) และ 4.บริษัทที่เข้าไปลงทุนขุดเหรียญบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) เช่น บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS)

บล.เอเซียพลัส ได้วิเคราะห์ต่อว่า ผลจากการประกาศของ ธปท.จะมีผลกระทบหรือสร้างบรรยากาศเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจประเภทที่ 1 คือ ICO portal เนื่องจากอาจทำให้กระบวนการออกเหรียญหรือโทเคนในตลาดมีอุปสรรค

ส่วนบริษัทประเภทที่ 2 คือผู้ที่รับเหรียญชำระค่าสินค้าบริการ คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้บริโภคยังเป็นส่วนน้อยที่ใช้เหรียญในการซื้อขายสินค้าและบริการอย่างมีนัย ส่วนธุรกิจประเภทที่ 3-4 คาดว่าไม่กระทบเลยเนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ขณะที่กระแสดิจิทัลเคอร์เรนซีมาแรงอย่างในขณะนี้ เป็นภารกิจโดยตรงของภาครัฐ จะต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์แก่ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image