เคาะแล้ว ส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวด 8 งวดค้าง 3-7 เงินเข้าบัญชี 9-14 ธ.ค.

เคาะแล้ว ส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวด 8 งวดค้าง 3-7 เงินเข้าบัญชี 9-14 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประกันรายได้ข้าวผลการผลิตปีที่ 3 ฤดูกาลปลูก 2564/2565 การเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคมเป็นต้นมาและเคาะจ่ายส่วนต่างราคาข้าวโครงการประกันรายได้เกษตรกรงวด 1-2 และ 3 บางส่วนไปแล้วนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามนโยบายอย่างใกล้ชิด

โดยหลังจากผลักดันงบประมาณผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วก็กำชับให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ประสานงาน ธ.ก.ส. และกระทรวงเกษตรฯซึ่งเป็นผู้ขึ้นบัญชีเกษตรกร อำนวยความสะดวกและแจ้งข่าวสารสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและให้พาณิชย์จังหวัดกระจายข่าวสารไปให้ถึงยังหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้ ให้แจ้งสิทธิประโยชน์ที่ชาวนาได้รับโดยละเอียดด้วย โดยขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองของ ธ.ก.ส. ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ ธ.ก.ส.พิจารณา และกำลังตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ ก่อนเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกร รายงานจาก ธ.ก.ส.ระบุว่า สำหรับเงินส่วนต่างที่ค้างอยู่งวดที่ 3-7 จะโอนตั้งแต่วันที่ 9-14 ธ.ค.2564 ส่วนงวดที่ 8 ก็จะโอนในลำดับถัดไป

และจากการที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้อนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 งวดที่ 8 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 งวดนี้เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกแล้วแจ้งวันเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค.2564 จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว โดยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างงวดที่ 8 คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,128.41 บาทต่อตัน ได้ชดเชยตันละ 3,871.59 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,865.42 บาทต่อตัน ได้ชดเชยตันละ 3,134.58 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,808.99 บาทต่อตัน ได้ชดเชยตันละ 1,191.01 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,045.44 บาทต่อตัน ได้ชดเชยตันละ 1,954.56 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 8,384.02 บาทต่อตัน ได้ชดเชยตันละ 3,615.98 บาท

นางมัลลิกากล่าวว่า สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 3 รัฐบาลได้ประกันรายได้ราคาข้าวเปลือก 5 ชนิดไว้ที่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

Advertisement

สำหรับงวดที่ 8 คือที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค.2564 นั้น จะมีชาวนาได้เงินส่วนต่างสูงสุดคือข้าวเปลือกหอมมะลิ 54,202 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 50,153 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 29,775 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 58,636 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 57,855 บาท ทั้งนี้ เป็นรายได้จากส่วนต่างของราคาข้าวที่ประกาศราคาอ้างอิงไปซึ่งราคานั้นเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ในปีที่ 3 หลักการเช่นเดิม คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เป็นหลักการทำงานตามกลไกราชการเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2

นางมัลลิกากล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็นโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นำเข้าร่วมเป็นนโยบายรัฐบาลและประกาศต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จากนั้นขับเคลื่อนนโยบายภายใน 45 วัน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงราคาพืชผลเกษตรตกต่ำขณะที่ราคาผลผลิตเป็นไปตามกลไกตลาดปกตินั้นรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดที่อยู่ในโครงการ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด สำหรับโครงการระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีทั้งได้จ่ายและไม่ได้จ่ายงบชดเชยส่วนต่าง เพราะราคาสินค้าเกษตรตามกลไกตลาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำหรับการเดินหน้าปีที่ 3 ของโครงการมีข้าวเท่านั้นที่ราคาตกขอบแรกของปี ส่วนพืชชนิดอื่นสามารถบริหารจัดการให้ราคาสูงเกินจากราคาของการประกันรายได้ ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณในพืชชนิดอื่น แต่หากราคาตกลงมารัฐบาลก็จะชดเชยส่วนต่างทันทีโครงการนี้ช่วยเหลือเกษตรกรร่วม 8 ล้านครัวเรือน โครงการนี้ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดีและได้รับความร่วมมือเสียงชื่นชมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพราะไม่ได้เป็นการทำลายกลไกราคาตลาดของสินค้า แต่รัฐบาลชดเชยโดยตรงสู่บัญชีของเกษตรกรทำให้ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นได้

“ระยะ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ประเทศเจอสถานการณ์โรคระบาดเป็นวิกฤตขณะที่ทุกสาขาอาชีพต้องหยุดการทำงานและรับการชดเชยดูแลจากรัฐบาลด้วยโครงการต่างๆ ที่ผ่านเงินสู่มือของประชาชน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายพยุงสถานะทางเศรษฐกิจ ขณะที่เกษตรกรก็ได้รัฐบาลดูแลเช่นกันและยิ่งได้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชดเชยส่วนต่างเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงทำให้เงินเหล่านี้ถูกนำมาใช้จ่ายตั้งแต่ระดับฐานรากของประเทศร่วม 8 ล้านบัญชีครัวเรือน ทำให้เงินหลายหมื่นล้านนั้นกลายเป็นเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจซึ่งผ่านไป 2 ปี หมุนเวียนน่าจะไม่ต่ำกว่า 5-7 รอบ ทำให้งบประมาณก้อนนี้ช่วยประเทศในภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” นางมัลลิกากล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image