‘บรรจง สุกรีฑา’ เปิดภารกิจ!! ปกป้อง ปชช.-บูม มอก.เอสฟื้นเอสเอ็มอี

‘บรรจง สุกรีฑา’เปิดภารกิจ!! ปกป้อง ปชช.-บูม มอก.เอสฟื้นเอสเอ็มอี

“จะใช้กลไกหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

(ซีไอวี)

ผลักดันสินค้าเอสเอ็มอีเติบโตภายใต้ มอก.เอส”

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม คนใหม่ถึงภารกิจ สมอ.ในยุคปัจจุบันที่ต้องสอดรับการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ดูแลผู้บริโภคยุคปัจจุบัน และเป็นกลไลรัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19

Advertisement
  • ภารกิจเร่งด่วนช่วง 100 วันแรก และเป้าหมายการทำงานนับจากนี้

ภารกิจสำคัญของ สมอ.คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นด้วยการมาตรฐาน และการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน

โดยภารกิจเร่งด่วนช่วง 100 วันแรกที่เร่งดำเนินการอยู่คือ การสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. นำไปใช้เลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันได้ และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ การผลักดันการรับรองมาตรฐาน มอก.เอส เพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มาตรฐานนี้นำข้อกำหนดการรับรองมาจากการนำระบบคุณภาพสากลไอเอสโอ 9000 มาปรับแบบง่าย ประยุกต์ใช้กับธุรกิจหลากหลาย หากเอสเอ็มอีได้ มอก.เอส จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ล่าสุดตั้งเป้าหมายระยะยาวผลักดันให้เอสเอ็มอีทุกรายได้รับการรับรอง มอก.เอส

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนนโยบายต่อยอดการทำงานเดิมทั้งส่งเสริมด้านการมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานถึงมือประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานด่านหน้า อาทิ กรมศุลกากร เพื่อสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานเครือข่าย อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด ที่ สมอ.จะบูรณาการการทำงานด้วย

ภารกิจสำคัญต่อมา คือ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยเลือกจำหน่ายสินค้าได้มาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ.ควบคุม มี 126 รายการ เป็น มอก.บังคับ ต้องจำหน่ายถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้กระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เบื้องต้นได้นำร่องกับภาคีเครือข่ายตลาดสดน่าซื้อใน จ.ปทุมธานี เป็นแห่งแรก ทำเอ็มโอยูรวม 33 ตลาด โดย สมอ.จะให้ความรู้สินค้า มอก.กับเจ้าของตลาด เพื่อให้ประสานผู้ค้าในตลาดต่อไป ตั้งเป้าจะขยายผลทั่วประเทศ และอีกภารกิจคือ จะเพิ่มความถี่ในการตรวจติดตาม เมื่อผู้รับใบอนุญาตนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

ปัจจุบัน สมอ.ออกมาตรฐานสินค้า จำนวน 3 หมวด ประกอบด้วย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 3,997 มาตรฐาน ครอบคลุม 43 สาขา อาทิ คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง เซรามิก เหล็ก ยานยนต์ไฟฟ้า เคมี แบ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป 3,871 มาตรฐาน และมาตรฐานบังคับ 126 มาตรฐาน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ ของเด็กเล่น อีกหมวดคือ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอส 174 มาตรฐาน แบ่งเป็น หมวดที่ 1 หมวดผลิตภัณฑ์ มีมาตรฐาน 111 มาตรฐาน หมวดที่ 2 หมวดบริการ มีมาตรฐาน 63 มาตรฐาน และหมวดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) 1,355 มาตรฐาน แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร 490 มาตรฐาน เครื่องดื่ม 224 มาตรฐาน ผ้าและเครื่องแต่งกาย 98 มาตรฐาน เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก 443 มาตรฐาน และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 100 มาตรฐาน

  • ชู มอก.เอสพัฒนาเอสเอ็มอีฟื้นเศรษฐกิจไทย

หลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดอุตสาหกรรมทั่วทั้งโลกจำเป็นต้องปรับตัวและเพิ่มศักยภาพตัวเอง ดังนั้น เมื่อมีการเปิดประเทศ การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหลังจากการพัฒนาอุตสาหกรรมได้หยุดชะงักในช่วงเกิดโรคระบาด สมอ.จึงมีนโยบายและแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านการลงทุน การจ้างงาน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแข่งขันในตลาดโลก เพิ่มการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ เพิ่มการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งมุ่งกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี อีโคโนมี) นอกจากนี้ จะสร้างบรรทัดฐานและความเชื่อมั่นแก่สินค้าที่มีนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการค้าในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จะลงลึกด้วยการช่วยยกระดับเอสเอ็มอีไทยผ่าน มอก.เอส 174 มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการบริการ โดยหลังเปิดประเทศ การบริโภคเริ่มกลับมา สินค้าเอสเอ็มอีมีโอกาส การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว สมอ.จะใช้กลไกหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการอยู่ ผลักดันให้สินค้าเอสเอ็มอีเติบโตภายใต้ มอก.เอส โดยจะเดินหน้าเชิงรุก

ล่าสุด ได้เริ่มนำร่อง มอก.เอส สำหรับหมู่บ้านซีไอวี ที่หมู่บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นซีไอวี 5 ดาว ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม โดยส่งทีมเจ้าหน้าที่ สมอ.เข้าไปร่วมศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ด้านบริการท่องเที่ยววิถีชุมชนหมู่บ้านซีไอวี มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และยังเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย

ปัจจุบัน สมอ.มีมาตรฐาน มอก.เอส ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ บริการนวดและสปา การบริการร้านกาแฟ การบริการเช่าที่พักอาศัย การบริการให้เช่าเต็นท์ การบริการเช่ารถยนต์ การบริการสนามกีฬาชนโคเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มอก.เอสมีเอสเอ็มอีได้รับมาตรฐานประมาณ 200 รายเท่านั้น เชื่อว่าหมู่บ้าน มอก.เอสจะทำให้เอสเอ็มอีได้มาตรฐานหลายพันรายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แนวทางขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณ สมอ.จึงอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจาก พ.ร.บ.เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟู โดยของบ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่มาก เพราะต้องการทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ใช้เวลาไม่นาน จะดำเนินการทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพราะมีซีไอวีกระจายทั่วประเทศ 250 แห่ง ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน มอก.เอส ควบคู่ด้วย

“แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยเอสเอ็มอีไทย แต่ยังลงลึกไปถึงชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ภาคการท่องเที่ยวที่เน้นอัตลักษณ์ชุมชน สมอ.จะทำงานร่วมกับ กสอ. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นอีกโมเดลในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย” เลขาฯบรรจงเน้นย้ำ

  • ลุยมาตรฐานสินค้าอนาคต-บีซีจี ยกระดับประเทศไทย

นอกจากนี้ สมอ.ยังอยู่ระหว่างเดินหน้ามาตรฐานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มีแผนกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ กลุ่มเอสเคิร์ฟ 122 มาตรฐาน ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ 58 มาตรฐาน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 27 มาตรฐาน การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4 มาตรฐาน การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร 33 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีนิวเอสเคิร์ฟ 90 มาตรฐาน ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 1 มาตรฐาน ดิจิทัล 16 มาตรฐาน และการแพทย์ครบวงจร 73 มาตรฐาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ 79 มาตรฐาน แบ่งเป็น มาตรฐานตามนโยบาย 27 มาตรฐาน และมาตรฐานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ 278 มาตรฐาน

ส่วนมาตรฐานที่เกี่ยวกับบีซีจี สมอ.ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแล้วรวม 468 มาตรฐาน แบ่งเป็น มาตรฐานผลิตภัณฑ์บีซีจี 432 มาตรฐาน จำนวนนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 301 มาตรฐาน อาทิ หลอดพลาสติกสำหรับอาหารแบบใช้ครั้งเดียว ผลิตภัณฑ์วัสดุหมุนเวียน 65 มาตรฐาน อาทิ เถ้าปาล์มน้ำมันใช้เป็นวัสดุผสมคอนกรีต และผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 66 มาตรฐาน อาทิ ถังบำบัดน้ำเสียอาคารสำเร็จรูปสำหรับอาคารอยู่อาศัย ขณะที่มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองมี 36 มาตรฐาน

  • สมอ.ยุคเลขาฯบรรจง

ในฐานะเลขาธิการ สมอ. พร้อมสานต่อแนวทางการพัฒนางานด้านการมาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล และจะมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดมั่นในหลักนิติธรรม มีความโปร่งใสและเสมอภาค ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งรายใหญ่ ตลอดจนเอสเอ็มอี และทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้สินค้าที่มี มอก.ให้ได้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image