“สบน.” คาด สิ้นปีงบ’65 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62.69% ต่อจีดีพี

“สบน.” คาด สิ้นปีงบ’65 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62.69% ต่อจีดีพี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า คาดว่าณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62.69% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 58.76% ของจีดีพี คิดเป็นมุูลหนี้ 9.46 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ 70% แม้จะรวมหนี้จากแผนก่อบริหารหนี้สาธารณะปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องว่างให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มหากมีความจำเป็น ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อีกประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ส่วนการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะนั้น กฎหมายได้กำหนดให้มีการทบทวนทุกๆ 3 ปี ซึ่งมี 2 เงื่อนไข คือ ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลไม่มีความต้องการใช้เงินเพิ่ม ก็สามารถลดกรอบกลับมาอยู่ที่ 60% ของจีดีพีได้ ส่วนถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังลากยาว หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในการลงทุนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็ยังสามารถคงกรอบเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 70% ได้ เพื่อให้มีความคล่องตัว

นางแพตริเซีย กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติกรอบแผนบริหารหนี้สาธารณะไว้แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.แผนก่อหนี้ใหม่ ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ วงเงิน 1.34 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาลโดยตรง จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.4 แสนล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ 350 ล้านบาท 2.แผนบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของรัฐบาลประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.3 แสนล้านบาท และ3.แผนชำระหนี้ทั้งหมด 3.39 แสนล้านบาท เป็นแผนหนี้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ประมาณ 297,631 ล้านบาท แผนชำระหนี้จากแหล่งอื่นๆ จำนวน 4.1 หมื่นล้านบาท

“ในส่วนแผนก่อหนี้ใหม่ ส่วนของรัฐบาล 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณวงเงิน 700,000 ล้านบาท พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ประมาณ 355,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรา 22 ภายใต้พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ วงเงินประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ทั้งนี้แผนบริหารหนี้สาธารณะ สามารถปรับปรุงระหว่างปีได้เพื่อให้สอดคล้องกับการต้องการใช้เงินของรัฐบาล เช่น หากต้องการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม เป็นต้น ก็สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ แต่รัฐบาลจะต้องวางแผนหาแหล่งรายได้เพื่อชดเชยการก่อหนี้ด้วย เพื่อสร้างสมดุลด้านการคลัง” นางแพตริเซีย กล่าว

Advertisement

นางแพตริเซีย กล่าวว่าสำหรับความเสี่ยงของรัฐบาลในเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะต่อจากนี้ ได้แก่ 1.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินสูงตาม โดยพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดว่ารัฐบาลต้องชำระหนี้ ที่ 2.5% ถึง 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้ส่วนของหนี้สาธารณะในแต่ละปีงบประมาณจำนวน 3% อยู่แล้ว หรือ ประมาณ 100,000 ล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวว่า เรื่องที่สอง คือ หนี้รัฐบาลที่สะสมมาจากการขาดดุลงบประมาณ การออกพันธบัตรต่างๆ ซึ่งจะครบกำหนดต้องจ่ายหนี้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนล้าน ซึ่งสิ่งที่สบน.จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยการทำบอนด์สวิทชิ่ง หรือ การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนตราสารหนี้รุ่นเดิมที่นักลงทุนถือครองอยู่ กับตราสารหนี้รุ่นอื่น และการออกพันธบัตรทำเป็นตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อแบ่งเบาการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ชำระหนี้จนมากเกินไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image