‘สรท.’ ลุ้นส่งออกปีนี้ อาจโตได้ 15% คาดปีหน้าขยายตัว 5%

‘สรท.’ ลุ้นส่งออกปีนี้ อาจโตได้ 15% คาดปีหน้าขยายตัว 5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนตุลาคม 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,738.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตกว่า 17.35% คิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 750,015.8 ล้านบาท ขยายตัว 24.9% โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมขยายตัว 25.38% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,108.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 34.6% คิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 772,540 ล้านบาท ขยายตัว 43.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2564 ขาดดุลเท่ากับ 370.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 22,524 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 222,736.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตกว่า 15.7% คิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,952,185.9 ล้านบาท ขยายตัว 16% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 10 เดือนนี้ขยายตัว 19.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 222,736.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.7% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,999,330.7 ล้านบาท ขยายตัว 31.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เกินดุล 1,646.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุลเท่ากับ 47,114.8 ล้านบาท สรท.จึงปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 15% ซึ่งอยู่ระหว่างลุ้นว่าจะถึงหรือไม่ เนื่องจากการส่งออกไทยทั้งปีนี้ เติบโตที่ 13-14% มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก โดยคาดการณ์การส่งออกปี 2565 โตที่ 5-8%

นายชัยชาญ กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะส่งผลต่อภาคการส่งออกไทย ได้แก่ การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล และเริ่มมีการแพร่กระจายในหลายประเทศ อาทิ เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี เชค ออสเตรเลย ฮ่องกง สหรัฐฯ อังกฤษ ที่ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง รวมถึงหลายประเทศเริ่มกลับมาจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว ภาวะการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือปลายทาง ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลก รวมถึงการเปิดการค้าเสรีที่จะเริ่มต้นในปี 2565 ซึ่งเราต้องเตรียมแผนในการรับมือให้ได้

นายชัยชาญ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในภาพรวม ได้แก่ 1.ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามการลงนามในสัญญา (เอ็มโอยู) ในแนวทางปฏิบัติ คือ การกำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลางสำหรับรวมถึงการตั้งศูนย์บริการแบบครบวงจร สำหรับกักตัวและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ สถานที่กักตัว จุดคัดกรองและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ ดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง เพื่อให้สามารถตรวจข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นในทางปฏิบัติ 2.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งอาจส่งต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบราคาสินค้าที่ต้องปรับตัวตามกลไกราคา เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนาการส่งออกไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ สรท. ได้จัดทำ White Paper: Post Covid-19 Rehabilitation Plan for Export Sector เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์สภาพความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก ความท้าทายระดับมหภาคต่อการส่งออกของไทย และความท้าทาย รวมถึงข้อเสนอแนะในภาพรวมรายอุตสาหกรรม ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ซึ่งพบว่ามีปัจจัยภายนอกสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของประเทศในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ปัจจัยด้านการเมือง อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แนวคิดชาตินิยมและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม 2.ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อาทิ การเจรจาการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ระดับทวิภาคี พหุภาคี การทำเขตการค้าเสรีในโลก โดยเฉพาะประเด็นการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าภายในกลุ่ม การกำหนดนโยบายด้านงบประมาณ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น 3.ปัจจัยด้านสังคม อาทิ สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลขององค์กรธุรกิจถูกจับตามากขึ้น 4.ปัจจัยด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ต่างๆ 5.ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการตระหนักรู้ถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกของผู้บริโภค 6.ปัจจัยด้านกฎหมาย อาทิ การออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การบังคับกฎหมายทางด้านภาษีอย่างเคร่งครัดและครอบคลุมธุรกิจใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันและรายได้ของภาครัฐ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image