วงเสวนา ลงมติค้านปิด ‘หัวลำโพง’ มุ่งพาณิชย์เอื้อนายทุน ชี้ การเดินทางต้องสำคัญสุด

3 ภาคส่วนลงมติ ‘ค้าน’ ปิดหัวลำโพงมุ่งเชิงพาณิชย์​เอื้อนายทุน

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายสาวิชย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมเสวนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องการหยุดให้บริการเดินขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร เป็นการพัฒนา หรือผลักภาระให้ประชาชน ที่บริเวณห้องโถงสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)​ ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางสหภาพฯ มองว่าสถานีรถไฟหัวลำโพง ถือเป็นสถานีประวัติศาสตร์และเป็นที่พึ่งของประชาชน หากมีการปิดสถานีหัวลำโพงจะส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นายสาวิชย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางสหภาพฯ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อและพบปะประชาชนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดโดยต้องการให้รัฐบาล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หยุดดำเนินการนโยบายเหล่านี้ ส่วนกรณีที่ นายศักดิ์สยาม มีแผนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทบทวนแผนการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เบื้องต้น สหภาพ​ฯ ยืนยันว่าต้องมีขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพงเหมือนเดิม ส่วนข้อเสนออื่นๆ คงต้องฟังภาคประชาชนอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปและเสนอต่อ นายศักดิ์สยาม และพล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

“หากมีการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ และต้องปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะสถานีหัวลำโพง ถือว่ายังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และการให้บริการประชาชน ซึ่งนายศักดิ์สยาม ต้องทบทวนในเรื่องนี้ว่าจะเห็นผลประโยชน์ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่ากัน” นายสาวิชย์ กล่าว

Advertisement

นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธาน สร.รฟท กล่าวว่า ขอให้ นายศักดิ์สยาม ยุตินโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน จำนวนมากและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสาธารณะประเภทอื่น รวมทั้งการนำที่ดินที่ประโยชน์เดินรถไปหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494

นายสราวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ ทางสหภาพฯ มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.คงบริการขบวนรถไฟชานเมือง ทุกสายเหมือนเดิม เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพง และให้มีรถบริการเชิงสังคม (พีเอสโอ) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ เพื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่รองรับประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพฯ 2.แก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ควรส่งเสริมระบบขนส่งทางราง โดยขยายทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือขุดอุโมงค์ที่ถนนตัดผ่านกทมเสมอระดับทางที่ยมราชและเร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายให้เต็มรูปแบบ

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า และ 3.การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯ ควรดำเนินการจากที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม อาทิ พื้นที่ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก อรัญประเทศ สงขลา และพังงา เป็นต้น

Advertisement

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า นโยบายหยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเอาพื้นที่เหล่านี้ไปเปิดประมูลทำห้างสรรพสินค้า ถือเป็นนโยบายที่นำเอาสิ่งสวยงามของสถานีหัวลำโพง สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าไปอัพราคาให้กับห้างสรรพสินค้า ไปเป็นประตูทางเข้าห้าง เอาคุณค่าเหล่านี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เราต้องคัดค้าน เพราะการเดินทางสำคัญที่สุด ประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้ามาหัวลำโพงต้องเดินทางมาได้ ไม่ใช่แค่หยุดอยู่ชานเมือง แต่ควรจะมีรถไฟจากพื้นภาคทุกภาคเข้ามา

“วันนี้เขาต้องการหยุดเดินรถไฟเพื่อเคลียร์พื้นที่สีน้ำเงินที่ไม่สามารถทำพาณิชยกรรมได้ใช่หรือไม่ เพราะการหยุดเดินรถไฟก็จะได้ไประบายสีผังเมือง ดังนั้นเราต้องต่อต้านไม่ให้หยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง” น.ส.รสนา กล่าว

ด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า การหยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง ทำให้ประชาชนเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น 7 เท่า จากเดิมนั่งจากรังสิตถึงหัวลำโพง จ่ายแค่ 6 บาท แต่หากหยุดรถที่บางซื่อ และต้องมาหัวลำโพงต้องจ่ายเพิ่มค่ารถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที)​ 42 บาท อีกทั้งทราบว่าจะมีบางขบวนหยุดเดินรถที่สถานีดอนเมือง จะยิ่งทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 200 บาท ดังนั้นจึงอยากให้เปิดใช้บริการสถานีหัวลำโพงควบคู่กับสถานีกลางบางซื่อ ขอย้ำว่าต้องมีรถไฟเข้าออกหัวลำโพง และต้องไม่ใช่แค่รถไฟชานเมือง 22 ขบวนเท่านั้น ต้องมีรถไฟทางไกลเข้ามาหัวลำโพงด้วย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมไม่ควรต้องจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน วันที่ 14 ธันวาคมนี้ เพราะเสียเวลา เสียเงินเสียทอง ไม่ได้ถามคนใช้บริการที่แท้จริง ขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับระบบรางอย่างมาก ซึ่งหากมีการปิดหัวลำโพงไม่ให้เข้าออก จะเป็นการย้อนแย้งกับเจตารมย์ของนายกฯ ที่สร้างผลงานระบบรางมาอย่างดีเยี่ยม จึงขอเรียกร้องนายกฯ สั่งการให้กระทรวงคมนาคมยุติแนวคิดที่จะปิดหัวลำโพงโดยด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image