แบงก์ชาติ-กลต. เตรียมออกกฎคุมใช้เงินดิจิทัลซื้อของ ยัน ธปท.ให้ความสำคัญระบบ ศก.ไทย

REUTERS

แบงก์ชาติ-กลต. เตรียมออกกฎคุมการใช้เงินดิจิทัลซื้อของ ยันบทบาท ธปท. มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาออกแนวนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจ ใช้สกุลเงิน    ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี แลกเปลี่ยนซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและเสถียรภาพระบบชำระเงินของประเทศ

ทั้งนี้ กรณีที่มีบางธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าถือหุ้นหรือได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในบริษัทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทในเครือของธนาคารนั้น ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง เนื่องจากไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธนาคารและความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบธุรกิจมาหารือ ธปท.บ้างในเรื่องรายละเอียดและสร้างความเข้าใจ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า พันธกิจของ ธปท. มีอยู่ 3 มิติ คือ 1.ทำเงินให้เป็นเงิน คือ รักษาค่าของเงินตรา ต้องการดูแลมูลค่าเงินในกระเป๋า เงินฝากในธนาคาร ซึ่งเชื่อมกับอัตราแลกเปลี่ยน และเงินเฟ้อ 2.ดูแลระบบเศรษฐกิจให้โตอย่างยั่งยืนเต็มประสิทธิภาพ ดูแลภาวะการเงิน ดูอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน โดย ธปท.ดูแลเมื่อเวลาเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ควรจะเป็น และ 3. ดูแลกำกับธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.เป็นแหล่งกู้ยืมแหล่งสุดท้าย ป้องกันวิกฤตธนาคาร

“ถ้าคนมาถือเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น การควบคุมจะน้อยลง เพราะคนใช้เงินบาทน้อย กิจกรรมต่างๆ เปลี่ยนไป ทำให้ความสามารถ ธปท.ควบคุมดูแลภาวะการเงินสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลง และการดูแลเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ให้ผันผวนทำได้ยากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติจะไม่สามารถป้องกันได้” นายสักกะภพกล่าว

Advertisement

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท.กล่าวว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งความผันผวนด้านราคา, มาตรฐานความปลอดภัยอย่าง ภัยไซเบอร์ การแฮก การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง ต่างจากการชำระเงินที่มีตัวกลางอย่างธนาคาร หากเงินถูกแฮก สามารถเรียกร้องนำเงินกลับมาได้ เพราะมีตัวกลาง คือ ธนาคารเป็นผู้ดูแลความเสี่ยง รวมไปถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image