ไทยพาณิชย์ ปรับลดจีดีพี 65 ห่วงโอไมครอนกระทบ หนุนรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 เป็น 1.1% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.7% จากการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจภายในประเทศหลังการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ที่สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน จากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ดีขึ้น และความคืบหน้าในการฉีด นอกจากนี้ประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะเติบโตได้ถึง 16.3%
สำหรับปี 2565 ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็น 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4% ตามผลกระทบของสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามอัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนของการส่งออกสินค้าของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปีนี้ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวจะทยอยปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน บนสมมุติฐานที่ผลกระทบของสายพันธุ์โอไมครอน จะจำกัดอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1
นายยรรยง กล่าวว่า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศในภาพรวมจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาวะตลาดแรงงานซบเซา โดยอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 อยู่ที่ 2.3% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงโควิด และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 นอกจากนี้ จำนวนคนทำงานต่ำระดับและคนเสมือนว่างงาน ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้แนวโน้มตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จะส่งผลต่อความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้ และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในแรงกดดัน ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง
สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2565 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินที่จะเหลือเพียงราว 2.6 แสนล้านบาทจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้วยความจำเป็นในการเยียวยาแผลเป็นทางเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่มีสูงขึ้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม โดยภาครัฐควรเน้นการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน มาตรการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอี และการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมใหม่ๆ
นายยรรยง กล่าวว่า ทั้งนี้เศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำในหลายมิติ ประกอบด้วย 1) การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 2) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ 3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมากและปัญหาคอขวดอุปทานโลก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากกว่าคาด จนทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 4) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอกว่าคาดจากความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์