สกู๊ปหน้า 1: จับตา “อีสปอร์ต” ปีหน้าเขย่าตลาดโลก 6 หมื่นล.

สกู๊ปหน้า 1: จับตา “อีสปอร์ต” ปีหน้าเขย่าตลาดโลก 6 หมื่นล.

ความนิยมของธุรกิจเกมออนไลน์ทั่วโลกส่งผลโดยตรงกับการเติบโตของกีฬา อีสปอร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพใหม่ๆ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในวงกว้าง

การเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆ ที่จับงานอีสปอร์ต เกิดทีมกีฬาอาชีพที่ร่วมแข่งขัน รวมถึงนักกีฬาอีสปอร์ตซึ่งกลายเป็นหนึ่งในอาชีพทำเงินมหาศาล จนผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า ในอนาคตข้างหน้า อีสปอร์ตอาจจะมีมูลค่าแซงหน้ากีฬาอาชีพยอดนิยมในปัจจุบันอย่างฟุตบอล บาสเกตบอล หรือมวยสากลเสียอีก

เช่นเดียวกับหลายๆ ชนิดกีฬา อีสปอร์ตไม่ได้เกี่ยวพันแค่เพียงตัวการแข่งขันหรือผู้เล่น แต่ยังกว้างไกลถึงการดีลกับสปอนเซอร์ การสตรีมมิ่งเกม และการตลาดด้านอื่นๆ

นิวซู (Newzoo) บริษัทรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเกม รายงานผลการศึกษาว่า ในปี 2019 มูลค่ารวมของตลาดกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลกอยู่ที่ราว 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36,300 ล้านบาท) ต่อมาในปี 2020 นิวซูระบุว่ามูลค่าตลาดเติบโตขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2021 โตขึ้นอีก 14.5 เปอร์เซ็นต์ โดยประเมินว่าในปี 2022 มูลค่าตลาดของกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59,400 ล้านบาท)

Advertisement

นอกจากนี้ ผลการศึกษาแนวโน้มของนิวซูคาดว่า ตลาดเกมจะเติบโตถึง 8.7 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2019-2024 ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2024 คาดว่ามูลค่าตลาดจะถีบตัวไปอยู่ที่ 2,187 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (72,171 ล้านบาท)เลยทีเดียว

ในส่วนของผู้เล่น นิวซูประเมินว่าจะมีคนเล่นเกมเพิ่มขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2020 กับ 2021

เมื่อเจาะลึกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบข้อมูลที่น่าสนใจจากทั้งนิวซู และ เทนเซนต์ บริษัทอินเตอร์เน็ตชั้นนำของโลก ว่า รายได้ของกีฬาอีสปอร์ตจะเพิ่มขึ้นถึง 20.8 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2019-2024 โดยในปี 2024 คาดว่ามูลค่าตลาดอีสปอร์ตในอาเซียนจะพุ่งไปที่ 72.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,392.5 ล้านบาท) ในปี 2024

Advertisement

รายงานระบุว่า การเติบโตของกีฬาอีสปอร์ตและธุรกิจเกมในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเทียบกับอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก เนื่องจากเกมเมอร์ในอาเซียนนิยมเล่นเกมจากอุปกรณ์พกพา เช่นโทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาในเกณฑ์จับต้องได้

ผลการศึกษาของนิวซูในปี 2021 พบว่า คนเล่นเกมออนไลน์ในอาเซียนนิยมเล่นเกมผ่านมือถือมากที่สุด คิดเป็น 82 เปอร์เซ็นต์

เจมส์ หยาง ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอีสปอร์ตนานาชาติของเกมดังอย่าง PUBG MOBILE แสดงความเห็นว่า จากเดิมที่คนเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์ เดี๋ยวนี้หันมาเล่นอีสปอร์ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เป็นเพราะบริษัทผู้ผลิตมือถือพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้สามารถรองรับการปฏิบัติการในระดับสูงได้ อีกทั้งยังมีระบบเครือข่าย 5G มารองรับด้วย

ไฮไลต์ที่น่าสนใจอีกประการจากการศึกษาล่าสุดคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ยอดผู้ชมกีฬาอีสปอร์ต และผู้เล่นเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่งผลให้ภาคเอกชนในธุรกิจเกมที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการเล่น การแข่งขัน และประสบการณ์การมีส่วนร่วมกับการเล่นเกมออนไลน์มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็ว

บทความชิ้นหนึ่งของ อีสปอร์ตดอทเน็ต เปรียบเทียบไว้น่าสนใจว่า หากในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ อุตสาหกรรมอีสปอร์ตจะมีรายได้พุ่งขึ้นไปถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (165,000 ล้านบาท) นั่นจะคิดเป็นมูลค่าเท่ากับทีมระดับท็อป 15 ของ พรีเมียร์ลีก ลีกฟุตบอลยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกรวมกันเลยทีเดียว!

บทความดังกล่าวชี้ด้วยว่า อีสปอร์ตอาจจะแซงหน้ากีฬาอื่นๆ เนื่องจากเป็นกีฬาที่เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ ยืนยันจากผลสำรวจชาวอเมริกันอายุระหว่าง 21-35 ปี ซึ่งระบุว่า 75 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า พวกเขาเริ่มห่างจากกีฬาปกติหันไปให้ความสนใจในอีสปอร์ตมากขึ้น

ในเมืองไทยนั้น อีสปอร์ต ถูกยกระดับเป็นชนิดกีฬาอาชีพของเมืองไทยอย่างเต็มตัวหลังได้รับการบรรจุไว้ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ทำให้หลายภาคส่วนทุกองคาพยพต่างช่วยกันผลักดัน สนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตในเมืองไทยเพื่อหวังว่า กีฬาอีสปอร์ตจะพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอีสปอร์ตที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยไปข้างหน้า

ในวันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด โดย นายฐานนท์ เรืองวิวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของอีสปอร์ตในเมืองไทย จึงได้ผนึกกำลังกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดแถลงข่าว และจัดงานสัมมนาใหญ่หัวข้อ “ศักยภาพ ESPORTS ไทย สู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น.

งาน “ศักยภาพ ESPORTS ไทยสู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” มี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ศักยภาพ ESPORTSไทย สู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” อีกด้วย

หลังการปาฐกถาพิเศษ จะเข้าสู่การเสวนา “ESPORTS โอกาสใหม่แห่งยุคดิจิทัล” โดยมีผู้ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ (ศก.ช.2) ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรองเลขาธิการ กสทช., ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) รวมไปถึง รุ่งทิพย์จารุศิริพิพัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา กรรมการผู้จัดการ ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม และออนไลน์ สเตชั่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

หลังจบการเสวนาหัวข้อ “ESPORTS โอกาสใหม่แห่งยุคดิจิทัล” จะเข้าสู่พิธีการแถลงข่าวเปิดตัวการแข่งขันอีสปอร์ต รายการ “2022 META ESPORTS & DIGITAL LIFE” มี นายฐานนท์ เรืองวิวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด และ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) GARENA ONLINE (THAILAND) COMPANY LIMITED เป็นผู้แถลง

ซึ่งการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต รายการ “2022 META ESPORTS & DIGITAL LIFE” เป็นการนำ 2 เกม ยอดฮิตในวงการ
อีสปอร์ตอย่าง Arena of Valor หรือ ROV และ FREEFIRE มาจัดในรูปแบบออนไลน์ชิงทุนการศึกษารวม 1 ล้านบาท

นี่คืออีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญของวงการอีสปอร์ตเมืองไทย เพื่อร่วมกันผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมอีสปอร์ตอย่างเต็มรูปแบบ

แฟนพันธุ์แท้ “อีสปอร์ต” ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image