เปิดแผน กนอ.ปี’65 รุกดิจิทัล จูงใจโลกมาลงทุน
สถานการณ์ของโลกและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่างๆ โดยมีดิจิทัลเป็นตัวเร่ง ตลอดจนความท้าทายใหม่ๆ ในปัจจุบัน ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สภาวะโลกร้อนจนกระทบต่อสภาพภูมิอากาศให้เปลี่ยนแปลงรุนแรง สุดขั้ว เกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ ล่าสุด จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวที COP26 ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065
จากบริบทดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานด้านการลงทุนของประเทศ ที่มีอายุครบ 49 ปี อย่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2565 และอนาคต ว่า จะขับเคลื่อนการลงทุน เร่งดึงดูดการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย โดยหลังจากนี้จะมีมาตรการทางการตลาดและมาตรการเชิงรุกให้มากขึ้นแล้ว รวมทั้งเร่งสื่อสารการตลาด ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลศักยภาพของนิคมมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเร่งปรับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันขององค์กร ให้รองรับรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนไปในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งต้องสอดรับกับแนวคิด บีซีจี โมเดล ของรัฐบาล ที่ใช้หลักคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการบริหารองค์กร โดยจะนำเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในระบบ 5G มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดต้นทุนการดำเนินงานองค์กรยุค 5.0 ร่วมกับเทคโนโลยีไอโอที บิ๊กดาต้า เอไอ รวมทั้งนำระบบการบริหารข้อมูลและทรัพยากรร่วมกันในองค์กร (อีอาร์พี) มาลดขั้นตอน ลดทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ปรับเปลี่ยนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้บริการต่างๆ ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม อาทิ ระบบเอกสารและพิธีศุลกากร รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารการซ่อมบำรุงและระบบบริหารความเสี่ยงของอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรม และระบบความมั่นคงของฐานข้อมูลและไซเบอร์
นอกจากนี้ ผู้ว่าการวีริศระบุ จะแสวงหาแนวทางการลงทุนและความร่วมมือในการลงทุนใหม่ๆ โดยจะดำเนินการโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐ ลงทุนในโครงการที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่องค์กร อาทิ การสร้างจุดรวมสินค้า ก่อนที่จะส่งมาท่าเรือและให้มีบริการดำเนินการทางเอกสารและพิธีการทางศุลกากรให้แล้วเสร็จ ณ จุดรวมสินค้า รวมทั้งพิจารณาร่วมลงทุนกับหน่วยงานภาครัฐอื่น เพื่อสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบ ตลอดจนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผลักดันบริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ให้เกิดการระดมทุนเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว รวมทั้งมีแผนจะลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเพื่องานบริการ นิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง นิคมอุตสาหกรรมเพื่อเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ และการนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้
“ความสำเร็จของ กนอ.ตลอด 49 ปี เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” ผู้ว่าการวีริศเน้นย้ำ
ผู้ว่าการวีริศเล่าถึงแนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ ของ กนอ.ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบ โฮลดิ้ง คอมพานี มีการศึกษา 3 แนวทาง ได้แก่ กนอ.ถือหุ้นมากกว่า 50% กนอ.ถือหุ้นน้อยกว่า 50% และ กนอ.ถือหุ้น 49% และมีส่วนผสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ กนอ. อีกมากกว่า 2% ขั้นตอนการดำเนินงาน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือนจากนี้ นอกจากนี้ ยังศึกษาแนงทางร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำของไทย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พัฒนา อินดัสเทรียล ดิจิทัล แพลตฟอร์ม (ไอดีพี) ธุรกิจการให้บริการแพลตฟอร์มการปฏิรูปอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน กนอ.ยังกำหนดแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ป้องกันการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง พลังงาน อาทิ การจัดทำแผนงานและแนวทางการบริหารแหล่งน้ำดิบ การหาและสร้างระบบจัดเก็บแหล่งน้ำดิบสำรอง การส่งเสริมระบบเก็บน้ำฝนของอาคารและสถานประกอบการ การส่งเสริมระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด
“ปี 2565 กนอ.จะสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาล อาทิ โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการนิคมสมาร์ท ปาร์ค และโครงการนิคมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจะเร่งพัฒนาบุคลากร กนอ.ให้มีศักยภาพเพิ่ม โดยเฉพาะด้าน ไอที ดิจิทัล แพลตฟอร์มใหม่ ภาษา รวมทั้งจัดหามาตรการสิทธิประโยชน์ให้โรงงานที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นการลงทุนให้สอดรับกับเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศ” ผู้ว่าการวีริศทิ้งท้าย
ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ปี 2565 อยากให้ กนอ.ปรับกฎระเบียบต่างๆ ที่ทันสมัย เพื่อให้นักลงทุนได้รับความสะดวกมากขึ้น จัดตั้งนิคมเฉพาะทางรองรับ เพราะปัจจุบันมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการทรานส์ฟอร์ม พัฒนาบุคลากร เพราะไทยต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการนักลงทุนเช่นเดียวกับไทย
“นิคมใหม่ๆ ไม่เพียงโดดเด่นด้านสิทธิประโยชน์ แต่ต้องมีระบบบริการจัดการที่ล้ำสมัยทั้งระบบน้ำ พลังงาน ออกแบบรับอนาคต เพื่อสอดรับกับธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งอนาคตทุกธุรกิจจะมุ่งหน้าการปล่อยคาร์บอน เป็นผลจากการประชุมเวที COP26 และอยากให้ร่วมกับ ส.อ.ท.ทำงานใกล้ชิดผลักดันอีโคแฟคตอรี่ไปด้วย” รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวแนะนำ
ก้าวย่าง กนอ.ในปี 2565 และอนาคตข้างหน้าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่…ต้องติดตาม!!