‘อาคม’ คาดปี 65 ศก.ไทยดีขึ้น หลังท่องเที่ยวฟื้นตัว บวกแรงหนุนศก.โลก แย้มตุนของขวัญปีใหม่อีกชุด

‘อาคม’ คาดปี 65 ศก.ไทยดีขึ้น หลังท่องเที่ยวฟื้นตัว บวกแรงหนุนศก.โลก แย้มตุนของขวัญปีใหม่อีกชุด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ธันวาคม ที่เมืองทองธานี จัดงานมหกรรมการเงิน Money Expo กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21 จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร ณ ฮอลล์ 9-12 อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 23–26 ธันวาคม 2564

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โลกภายหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งที่ต้องเผชิญต่อจากนี้คือ สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทำให้เราต้องพยายามปรับตัวไปด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการสร้างระบบนิเวศในด้านความมั่งคั่งที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยเชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโรงแรม เนื่องจากมีการเปิดประเทศมากขึ้น แม้มีความไม่แน่นอนจากการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน แต่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ให้เป็นไปได้ที่จะกลับมาฟื้นตัวใหม่ โดยขณะนี้พบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้จัดทำของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนแล้ว อาทิ ลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ชั้นดี เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชนที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ให้มีโอกาสได้รับเงินสดใช้ในการเสริมสภาพคล่อง เพื่อประกอบอาชีพ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนมาตรการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะมีออกมาอีกแน่นอน แต่อย่างน้อยตอนนี้โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ก็ได้รับการอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา

นายอาคมกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ซึ่งจะเห็นว่าประชาชนอยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้าสู่ความปกติวิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) โดยท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ธุรกิจแทบทุกภาคส่วนพยายามปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรับชั่น หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และต้นทุนค่าใช้จ่าย อาทิ การทำตลาดแบบออนไลน์ การไลฟ์สด ซึ่งเป็นการขายของผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการชำระเงินผ่านระบบอีเพลย์เมนต์ หรือการสแกนคิวอาร์โค้ดต่างๆ ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคงไม่มีใครเชื่อว่า เราจะเข้าสู่ระบบธุรกรรมทางการเงินแทบทุกชนิดผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

Advertisement

นายอาคมกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเป๋าตังให้มีความทันสมัยมากขึ้น ประชาชนสามารถใช้เป็นช่องทางเข้ารับสิทธิเยียวยาและบริการต่างๆ ของรัฐได้ รวมถึงพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มในการใช้ซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล และบริการอื่นๆ ได้ โดยกระทรวงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการซัพพลายเชน ไฟแนนซ์ เพื่อจัดทำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริการด้านการค้า และการชำระเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งหวังว่าจะเป็นการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้หยุดนิ่งในการพัฒนาและปรับตัวไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่เช่นกั นอกจากการปรับตัวแล้ว การให้ความรู้ทางการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ให้คำปรึกษาด้านความมั่งคั่งจะต้องไม่หยุดในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image