ศักดิ์สยาม ประชุมเตรียมการรองรับเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลง 20 ตัน/เพลา

“ศักดิ์สยาม” ประชุมการเตรียมการรองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม เรื่อง การเตรียมการรองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา ผ่าน Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง  นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นทางรถไฟซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟให้สามารถรองรับรถจักรบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตัน/เพลาแล้ว เช่น เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ – หนองคาย) สายตะวันออก (กรุงเทพฯ – ระยอง) และสายเหนือ (กรุงเทพฯ – เชียงใหม่) อย่างไรก็ตาม ยังมีสะพานรถไฟในบางสายทางยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้รองรับน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา โดยเฉพาะในเส้นทางสายใต้ ซึ่งสะพานรถไฟส่วนใหญ่รองรับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 16 ตัน/เพลา และมีสะพานรถไฟซึ่งถึงกำหนดต้องบำรุงรักษาตามระยะเวลา เช่น สะพานหอในสายเหนือ 2 แห่งที่จังหวัดลำปาง  สะพานรถไฟสายใต้ที่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 8 แห่ง สะพานรถไฟช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย จำนวน 19 แห่ง และสะพานรถไฟช่วงหนองปลาดุก – สุพรรณบุรี จำนวน 23 แห่ง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงสะพานรถไฟโดยใช้งบประมาณปี 2566 ที่เสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟได้รับความปลอดภัยสูงสุดและลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้า ให้รองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จากเดิมรถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 16 ตัน/ เพลา รองรับการขนส่งสินค้าได้ ขบวนละ 2,100 ตัน หากปรับปรุงสะพานรถไฟให้รองรับการใช้รถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลาจะรองรับเพิ่มขึ้นเป็นขบวนละ 2,500 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20  และสามารถใช้ความเร็วผ่านสะพานได้สูงสุดถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่รถจักรจะผ่านสะพานรถไฟด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ สำหรับสะพานรถไฟในส่วนที่เหลือ กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567-2569 ตามลำดับความจำเป็นในการปรับปรุง เพื่อปรับปรุงสะพานรถไฟทั่วประเทศ ให้รองรับน้ำหนักบรรทุก 20 ตัน/เพลา  ส่วนสะพานที่อยู่ในเส้นทางที่มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จะดำเนินการปรับปรุงสะพานให้รองรับน้ำ 20 ตัน/เพลา ไปพร้อมกัน

Advertisement

นายศักดิ์สยาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานะรถจักรดีเซลไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าปัจจุบันมีรถจักรดีเซลไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจำนวน 219 คัน แบ่งเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า (CSR) รุ่นใหม่ น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา จำนวน 20 คัน ใช้สำหรับขนส่งสินค้า ส่วนรถจักรที่มีน้ำหนักกดลงเพลา 15-16 ตัน/เพลา ได้แก่ รถจักรดีเซลไฟฟ้า (GEA) จำนวน 36 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Hitachi) จำนวน 21 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Alsthom) จำนวน 97 คัน และรถจักรดีเซลไฟฟ้า (GE) จำนวน 45 คัน

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่เพิ่มเติมอีก 50 คัน เพื่อทดแทนรถจักร GE เดิม ที่มีอายุการใช้งานกว่า 55 ปื โดยรถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คันแรกจะมาถึงไทยกลางเดือนมกราคม 2565 ก่อนนำมาทดสอบ และจะนำมาวิ่งให้บริการได้ประมาณกลางปี 2565  และอีก 30 คันจะได้รับมาในปี 2566 นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างติดตั้งระบบป้องกันการชนอัตโนมัติ หรือ ATP (Automatic Train Protection) ให้กับรถจักร CSR และ Alsthom จำนวน 70 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จ

ภายในปี 2566 ซึ่ง ATP จะช่วยควบคุมระยะห่างของขบวนรถแต่ละคันให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รถจักรจะทำการเบรกอัตโนมัติ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในทางรถไฟร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาการปรับปรุงรถจักรให้มีสภาพใหม่ (Refurbish) รวมทั้งติดตั้งระบบ ATP ให้กับรถจักร GEA และ Hitachi อีก 57 คัน  เพื่อยกระดับการให้บริการและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้โดยสารระบบรางต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับทราบการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้สั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

1. สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จ.หนองคาย ให้ตรวจสอบข้อมูลว่า สะพานที่จะออกแบบใหม่รองรับ 20 ตัน/เพลา เพียงพอหรือไม่ โดยประสานตรวจสอบว่า สะพานในโครงการรถไฟลาว-จีน ออกแบบรองรับกี่ตัน/เพลา เพื่อให้มีความสอดคล้องและรองรับปริมาณการขนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. .ให้ รฟท. พิจารณาตรวจสอบว่า สะพานรถไฟในประเทศไทยมีจุดใดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม และบำรุงรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเดินรถได้อย่างปลอดภัย โดยให้พิจารณาขอรับการจัดสรรงบกลาง หรืองบประมาณเหลือจ่ายของ รฟท. และให้ดำเนินการภายในปี 2565

3. การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มเติม ให้ รฟท. จัดทำข้อมูลโดยพิจารณาแนวทางการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น งบประมาณ เงินกู้ การ outsource ให้กับเอกชน หรือการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) นอกจากนี้ ในการจัดหาหัวรถจักรให้พิจารณาเป็นหัวรถจักรไฟฟ้าหรือระบบไฮบริด (hybrid) โดยเฉพาะในย่านสถานีกลางบางซื่อ และให้ รฟท. จัดทำแผนปฏิบัติการ (action plan) ในการดำเนินงานรองรับการใช้งานสถานีกลางบางซื่อให้ชัดเจนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image