‘กรมชลฯ’ เดินหน้าพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด หวังฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัยซ้ำซาก

“กรมชลฯ” เดินหน้าพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด หวังฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัยซ้ำซาก

รายงานข่าวจากกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ทางกรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องก่อสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ว และลดผลกระทบปัญหาจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในจังหวัดจันทบุรี ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่า เพื่อสร้างพื้นที่แหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่า เช่น ช้าง เพื่อลดการเคลื่อนย้ายการเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่เกษตร อีกทั้ง เป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ เพราะแหล่งน้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าควรรักษาไว้ เพราะนอกเหนือจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีแนวโน้มลดลง จากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร การรักษาแหล่งน้ำก็มีความสำคัญ ที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำโดยการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการใช้เพื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เนื่องจากภูมิศาสตร์พื้นที่ ที่ไม่สามารถกักเก็บได้ตามธรรมชาติ

รายงานข่าวระบุว่า ทางกรมชลประทานได้เข้ามาศึกษารายละเอียดในพื้นที่ เพื่อดูความเหมาะสมในการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ผ่านคณะกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยมีแผนฟื้นฟูที่สามารถตอบข้อกังขาของหลายฝ่าย และ EHIA ได้ดังนี้

1.ปลูกไม้ 3 ชนิดในพื้นที่ ปลูกป่าทดแทน 4,570 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานประสานงานกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกป่าและดำเนินการปลูกป่าทดแทน เช่นไทรหว้า มะเดื่อ อุทมพรซึ่งพบอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นต้น

2.ปรับเปลี่ยนพันธุ์หญ้าในแปลงเดิมจำนวน 100 ไร่ โดยมีแผนจะดำเนินการปลูกพืชโตเร็ว เช่น ตะขบ กล้วยป่า ฯลฯ และพืชล้มลุก เช่น หญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่า และให้ปลุกไม้ยืนต้นที่มีผล และให้เมล็ด เพื่อให้สัตว์ป่าได้กระจายพันธุ์ในพื้นที่ โดยปลูกบริเวณใกล้เคียงกับอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

Advertisement

3.จัดทำแนวกั้นไฟป่าในอุทยานแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยดำเนินการสร้างแนวป้องกันระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นแนวเสาคอนกรีตเสริมเหล็กฝังลึกประมาณ 3-4 เมตร และสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 3 เมตรมีระยะห่างระหว่างเสา 50 เซนติเมตร และมีการออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพพื้นที่

4.ปรับปรุงพื้นที่ป่า เพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า 3,750 ไร่ โดยมีการหารือร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ป่าให้เหมาะสำหรับเป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิดมีการปรับเปลี่ยนพันธุ์หน้า และปลูกพืชที่เหมาะต่อการเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ป่า

5.เพาะชำและปลูกหญ้าแฝกจำนวน 200 ล้านต้นกล้ามีการวางแผนการก่อสร้างในฤดูแล้ง พร้อมปลูกพืชคลุมดินพื้นที่หัวงานกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบริเวณดังกล่าว

Advertisement

6.สร้างแหล่งน้ำแห่งใหม่จำนวน 100 แห่ง กรมชลประทานมีการวางงบประมาณในเรื่องนี้ เพื่อจัดสร้างแหล่งน้ำ โดยจะขุดบ่อให้กระจายในพื้นที่ พร้อมทั้งขุดโป่งดินข้างแหล่งน้ำ

7.สร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 40 แห่ง โดยวางแผนสร้างฝายชะลอน้ำด้านเหนือและตะวันตกของอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น

8.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมจำนวน 20 แห่ง มีการติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลง ชนิด และปริมาณรวทั้งความชุกชุมและการแพร่กระจายของแพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน ปลา เพื่อวิเคราห์นิเวศวิทยาทางน้ำ และปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ที่มากขึ้น

9.ปลูกพืชอาหารช้าง จำนวน 1,050 ไร่ ดำเนินการปลูกป่าทดแทนโดยเป็นพันธุ์ไม้เศรษฐกิจร้อยละ 50 และไม้อาหารสัตว์ร้อยละ 50 เพื่อให้ช้างมีอาหารอย่างเพียงพอ และลดปัญหาช้างลงไปกินพืชผักเกษตรที่ชาวบ้านปลูกไว้ สร้างความเสียหายอีกมาก

10.สร้างโป่งเทียมจำนวน 1,700 แห่ง ดำเนินการสร้างโป่งเทียมเพื่อเสริมแหล่งอาหารให้แก่สัตว์กินพืชในป่า โดยส่วนประกอบเบื้องต้นคือ แร่ธาตุอาหารสัตว์ แคลเซียมฟอสเฟต และเกลือแกง เมื่อมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้างเกลือก็จะละลายทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ก็จะพากันมากินดินเหล่านี้ หรือดื่มน้ำจากโป่งน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุ หรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ครบถ้วน เกิดความสมดุลในระบบนิเวศอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image