จุรินทร์คาดส่งออกปีหน้าโต 3-4 % แตะ 9 ล้านล้านบาท พร้อมจับมือทุกฝ่ายฝ่าโอมิครอน

จุรินทร์คาดส่งออกปีหน้าโต 3-4 % แตะ 9 ล้านล้านบาท พร้อมจับมือทุกฝ่ายฝ่าโอมิครอน

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 3/2564 พร้อมด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนภาคเอกชน ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการและภาคเอกชนอื่นร่วมประชุมผ่านทางระบบ Zoom Conference วันนี้ด้วย

โดยนายจุรินทร์ได้แถลงข่าวหลังการประชุมว่า ได้มีการประเมินตัวเลขการส่งออกทั้งหมดในปี 2564 จะบวกประมาณ 16% และสามารถนำเงินเข้าประเทศได้ 8,585,600 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นลำดับสูง ประกอบด้วย สินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขจะเป็นไปตามนี้ทั้งหมดหรือไม่ต้องรอตัวเลขการส่งออกจริงของเดือนธันวาคมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมก็ได้มีการหารือกันในเรื่องของตัวเลขการส่งออกปีหน้าซึ่งก็ได้มีการคาดการณ์กัน โดยหลายหน่วยงานทั้งหน่วยงานภาครัฐแล้วก็หน่วยงานภาคเอกชน แต่สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกปี 2565 นี้จะยังคงมีการขยายตัวเป็นบวกประมาณ 3-4% และคาดว่าจะมีตัวเลขการส่งออกประมาณ 9 ล้านล้านบาท หรือ 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขส่งออกในปี 2565 นั้นคาดว่าจะมากกว่าปี 2564 ประมาณ 4 แสนล้านบาท

โดยใช้ข้อมูลสำคัญ 8 ตัว ในการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออก ได้แก่ 1.ตัวเลขเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญย้อนหลังไป 5 ปี 2.อัตราแลกเปลี่ยน 3.ราคาน้ำมันดิบดูไบ 4.ราคาสินค้าเกษตร 5.ราคาวัตถุดิบโลก 6.สถานการณ์โควิด 7.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งโลจิสติกส์ 8.การประเมินโดยทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์ทั่วโลก

Advertisement

สำหรับหมวดส่งออกสำคัญ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้ น้ำตาล อาหารเลี้ยงสัตว์ 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.สินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ 4.วัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตสินค้า เช่น เหล็ก เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางรถยนต์

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในปีหน้าให้มีอัตราขยาย ได้แก่ 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดย OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวบวก 4.5% 2.การนำเข้าของประเทศคู่ค้า ในปีหน้าคาดว่ายังขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป 3.ปัจจัยค่าเงินบาท คาดว่าปีหน้าก็ยังจะเอื้อต่อการส่งออก โดยค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

4.การผลิตตู้คอนเทนเนอร์ป้อนตลาดโลกที่มากขึ้น จะเพิ่มขึ้นก็จะช่วยให้เป็นบวกกับการส่งออกได้คล่องตัวขึ้น 5.การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (e-Digital) จะช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าด้านไอทีของไทย 6.แผนจัดการแก้ปัญหาโควิดที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาพรวมของโลก 7.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

Advertisement

ในส่วนของการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของไทยสำหรับปี 2564 นั้นจะเป็นบวก 32% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท สำหรับปี 2565 คาดว่าจะเป็นบวกอยู่ 5-7% หรือ 1.07-1.08 ล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าการค้าทั้งนำเข้าส่งออกทางชายแดนประมาณ 1.78-1.82 ล้านล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการส่งออกปี 2565 คือ 1.สถานการณ์โรคโควิด 2.การขาดแคลนแรงงาน 3.การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) 4.มาตรการทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด่านพรมแดนทางบกที่อาจจะมีการปิดไป ส่วนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศลาว และประเทศจีนได้ ซึ่งได้เตรียมจัดการประชุมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ จ.หนองคาย ในช่วงเดือนมกราคม 2565 เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรให้สินค้าไทยส่งออกไปยังลาวและจีนได้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มตัวเลขการค้าชายแดนของไทย

“ในปี 2564 การส่งออกภายใต้สถานการณ์โควิดจะสายพันธุ์อะไรก็ตามก็สามารถฝ่าฟันมาได้ ส่วนเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนต้องจับมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างหนัก ทำงานในเชิงรุก ต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างดี ส่วนปี 2565 กรอ.พาณิชย์ยังคงเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางกระทรวงได้มีของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนเพิ่มเติมคือ การเพิ่มจำนวนบริการ One Stop Service Online ที่เป็นระบบออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวบนหน้าจอในเว็บไซต์ www.moc.go.th ซึ่งปีที่แล้วได้เริ่มต้นนำร่องไป 85 บริการ และนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเพิ่มอีก 33 บริการ รวมแล้วบนหน้าจอออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวบนหน้าจอมี 118 บริการ

ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1.บริการด้านจดทะเบียนธุรกิจ เช่น การจองชื่อนิติบุคคล การให้บริการด้านการคลัง บริการค้นหาข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น 2.บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น บริการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก เครื่องหมายการค้า บริการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า 3.การค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า บริการข้อมูลด้านการค้าเชิงลึกจากทูตพาณิชย์ทั่วโลก บริการข้อมูล FTA บริการสถิติการค้าระหว่างประเทศ รายชื่อผู้ส่งออกนำเข้า

4.บริการด้านการค้าภายในประเทศมี 27 บริการ เช่น การสมัครร้านอาหารธงฟ้า บริการข้อมูลราคาสินค้าเกษตรในกรุงเทพฯ บริการข้อมูลตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ บริการงานช่างตวงวัด บริการดัชนีราคาผู้บริโภคและระบบร้องเรียนออนไลน์ 5.บริการสารสนเทศและกิจกรรมบริการ เช่น ระบบบริหารกิจกรรมกลาง และห้องสมุดดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image