‘สดช.’ รับบทป๋า เล็งดันสมาร์ท ซิตี้ ผุดบริการ 5G ราคาถูก ให้ปชช.เข้าถึงเป็นรูปธรรม คาดปี 75 สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้งาน ทะลุ 5 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงแผนงานของ สดช.ปีหน้าว่า ยังคงเดินหน้าตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมการพัฒนาและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้ ในราคาไม่แพง ซึ่ง สดช. อยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5G (5G City Guidance) อาทิ การพัฒนาโครงข่ายของเมืองเทคโนโลยี 5G เพื่อการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองเทคโนโลยี 5G (5G City Certification) การพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5G ต้นแบบด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน (5G Livelihood City) และ การพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5G ต้นแบบด้านการปกครองและอุตสาหกรรม (5G Governance and Industrial City) เป็นต้น เพื่อผลักดันให้ เมืองสมาร์ท ซิตี้ ทั่วประเทศ มีบริการ 5G ในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างน้อย 1 บริการ ต่อ 1 เมืองอัจฉริยะ
สำหรับการจัดทำร่างดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ของ อาเซียนที่มีแผนการขับเคลื่อน กลยุทธ์ และแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จาก 5G เพิ่มมากขึ้นอีกมาก
ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีประชากรที่ใช้งาน 5G มากกว่า 70 ล้านราย ปี 2573 ด้านการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G จะทำให้ตลาด 5G ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 130,000 ตำแหน่ง ปี 2575 ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5G อยู่ที่ 2.3 – 5 ล้านล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาท/ปี และปี 2578 ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการค้าการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ให้กับประเทศไทย ได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่า
อย่างไรก็ตาม สดช.ได้ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้แก่ มิติด้านการเกษตร การนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จ.เชียงราย ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ลักษณะโครงการเป็นการนำโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสู่พื้นที่ห่างไกล (บนเนินเขา) และทำเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) การนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จ.เชียงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเพาะปลูก ลดเวลาดำเนินงาน (พื้นที่ใหญ่ 75 ไร่) มีการใช้โดรนสำรวจพื้นที่ ระบบรดน้ำใส่ปุ๋ยอัจฉริยะ รวมถึงการอบรมการใช้งานให้แก่บุคลากรในพื้นที่ และขึ้นทะเบียนนักบินโดรนการนำร่องระบบชลประทานอัจฉริยะ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย จ.อุดรธานี การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เซ็นเซอร์ สร้างระบบศูนย์ควบคุมสั่งการระบบวัดปริมาตรน้ำแบบดิจิทัล พร้อมด้วยระบบตรวจจับอัตราการไหลของน้ำ ช่วยให้การปล่อยน้ำเป็นไปตามตารางเวลา
มิติด้านสาธารณสุข ได้แก่ การนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ ณ ศิริราชพยาบาล คือ ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ขับเคลื่อนผ่าน 5G ในการวินิจฉัยโรค ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน บริหารจัดการผู้ป่วยและคลังยา รวมไปการตรวจเยี่ยมบ้านผ่านระบบเทเลเมดิซีน และการใช้รถยนต์ไร้คนขับขนส่งยาระหว่างตึกภายในโรงพยาบาลศิริราช มิติด้านคมนาคม ได้แก่ การนำร่องสถานีอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์บริการข้อมูลและนำทางภายในสถานี ให้บริการเอไอ
ด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารในอาคาร โดยหากเกิดเหตุผิดปกติวิสัยจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการควบคุมและดูแลได้อย่างทันท่วงที และให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุด้วยวีลแชร์ไฟฟ้า
มิติด้านการศึกษา ได้แก่ การนำร่องโครงการวิทยาเขตอัจฉริยะ (สมาร์ทแคมปัส) ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คือ การสร้างมหาวิทยาลัยอัจฉริยะต้นแบบ ด้วยการเป็น Wireless Campus มีระบบ Intelligent Hybrid Classroom ต้นแบบสื่อที่เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมจากโรโบติกส์, ไอโอที และเอไอ บน 5G