เช็กเลย โอนวันนี้จ่ายเยียวยา 5,000 บาท คนทำงานสถานบันเทิง ผับ บาร์

เช็กเลย โอนวันนี้จ่ายเยียวยา 5,000 บาท คนทำงานสถานบันเทิง ผับ บาร์ ครม.ยืดเยียวยา ม.33-ม.39-ม.40 ถึง มี.ค.65

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท แก่ผู้ประกันตนที่ทำงานในกิจกการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน จะจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้กับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ทั้งมาตรา 33 ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะเริ่มโอนเงินในรอบแรกให้กับผู้ประกันตนที่มีสิทธิดังกล่าวข้างต้น ผ่านบัญชีธนาคารที่ผู้ประกันตนได้ผูกพร้อมเพย์ไว้กับบัตรประชาชน ในวันที่ 29 ธันวาคม แน่นอน แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 8,133 ราย มาตรา 39 จำนวน 953 ราย มาตรา 40 จำนวน 27,618 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 183,520,000 บาท

นายสุชาติกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้รีบสมัคร พร้อมชำระเงินสมทบให้ทันภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 และให้ทางสมาคมข้างต้น รับรองภายในวันที่ 28 มกราคม 2565 และตรวจสอบบัญชีธนาคารของตนเองว่าผูกพร้อมเพย์ไว้กับบัตรประชาชนไว้หรือไม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจกลุ่มสมาคมศิลปินกลางแจ้ง หรือติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

  • อาคมเผยเลื่อนชงภาษีอีวี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ธันวาคม ยังไม่มีการเสนอมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร เนื่องจาก ครม.ให้รอเสนอพร้อมกับแพคเกจมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังาน เป็นประธาน ส่วนที่คลังรับผิดชอบเรื่องภาษีได้ทำมาตรการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ ครม.ขอให้รอเสนอร่วมกับแพคเกจของบอร์ดอีวี ส่วนจะเสนอได้เมื่อไร ยังไม่ทราบรายละเอียด เช่นเดียวกับการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็รอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในครั้งถัดไป แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าช่วงไหน

  • ยืดเยียวยาม.33-ม.39-ม.40

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด (กลุ่มจังหวัดได้รับเยียวยาเพิ่ม 1 เดือน ในเดือนสิงหาคม 2564) และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รายงานว่า จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ

Advertisement

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สปส.ยังรายงานความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564 จ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้ว 2 รอบ รวมเป็นเงิน 31,721.52 ล้านบาท และจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ายังมีกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ประกอบด้วยนายจ้าง 5,948 แห่ง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 199,232 คน ประกอบด้วย กลุ่มที่อยู่ระหว่างการจ่ายเงินเยียวยา อยู่ระหว่างการทบทวนสิทธิ อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติสัมพันธ์และยืนยันข้อมูล อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการ รวมถึงกรณีโอนเงินไม่สำเร็จเนื่องจากบัญชีเงินฝากปิด หรือไม่ได้ผูกกับพร้อมเพย์ และมีวงเงินคงเหลือตามโครงการทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวม 1,984.24 ล้านบาท

  • ส.อ.ท.รอดูฤทธิ์โอมิครอนหลัง 15 ม.ค.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนหลังช่วงเทศกาลปีใหม่จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 เพราะพ้นระยะเวลา 14 วันในการเพาะเชื้อ สิ่งที่เอกชนกังวลคือ สายพันธุ์โอมิครอนแม้จะรุนแรงเพียง 30% เมื่อเทียบกับเดลต้า แต่ติดได้ง่ายกว่ามาก หากป่วยถึง 1 แสนคนเท่ากับประเทศอังกฤษซึ่งมีประชากรเท่าไทย อาจทำให้ระบบสุขภาพของไทยเจอวิกฤตได้

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เบื้องต้นผลจากโอมิครอน ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เดิมวางแผนจะปลดล็อกการทำงานที่บ้าน (เวิร์ก ฟรอม โฮม) และกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ ต้องชะลอแผนออกไปก่อน 1-3 เดือน รวมไปถึงธุรกิจบางส่วนที่อาศัยพลังซื้อในประเทศต้องประเมินแผนการตลาดและการลงทุนอีกครั้ง

Advertisement
  • หวั่นกดส่งออกกระทบศก.ไทยปี’65

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาคการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องแม้จะขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันโอมิครอนระบาดทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หากการแพร่ระบาดรุนแรงและนำไปสู่การล็อกดาวน์ อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จนกระทบต่อการส่งออก อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ได้ ปีหน้าภาครัฐบาลจำเป็นต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ อาทิ มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ช้อปดีมีคืน และควรมีมาตรการเพิ่มเติมให้กับภาคท่องเที่ยว บริการ โรงแรม เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบซ้ำๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก

  • ส.ร้านอาหารเชื่อรัฐไม่สั่งปิดเหมารวม

น.ส.ประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด กล่าวว่า การแจ้งเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระดับ 3 เป็นเรื่องที่น่าห่วงเสี่ยงว่าจะเกิดคลัสเตอร์การระบาดขึ้นอีก หากประชาชนไม่ดูแลตนเองให้ดี มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมของสาธารณสุข โดยเฉพาะช่วงเทศกาล แม้ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มสังสรรค์ฉลองปีใหม่ ส่วนความเสี่ยงในร้านอาหาร ผู้ประกอบการป้องกันอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงฝั่งลูกค้า ในร้านประเภทหมูกระทะ จิ้มจุ่ม ชาบู มักกินกันเป็นกลุ่มใหญ่ เสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ดังนั้น อยากให้ลูกค้าเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

“ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขเรื่องมาตรการรองรับสายพันธุ์โอมิครอน อาจจะหารือกันอีกทีหลังจากพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ส่วนถ้ามีการระบาดอีกระลอก เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว คงจะมีคำสั่งควบคุมพื้นที่บางจุดที่มีการระบาด ส่วนที่ไม่มีปัญหาก็เปิดตามปกติภายใต้มาตรการป้องกัน ไม่ได้เหมารวมแบบครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด” น.ส.ประภัสสรกล่าว

  • รถบรรทุกเตรียมหยุดวิ่งเพิ่ม

ที่สำนักงานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ เปิดเผยว่า หลังจากสหพันธ์เรียกร้องขอให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร มากว่า 2 เดือน รวมทั้งจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทรัคเพาเวอร์ (Truck Power) 2 ครั้ง ผู้ประกอบการรถบรรทุกหยุดเดินรถ 20% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าหรือได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ดังนั้น สหพันธ์จะยกระดับกิจกรรมทรัคเพาเวอร์ที่หน้ากระทรวงพลังงาน และอาจขยายไปยังกระทรวงอื่นด้วย และจะมีการหยุดเดินรถเพิ่มอีก 30% คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 จากเดิมได้หยุดเดินรถไปแล้ว 20% เมื่อรวมครั้งใหม่จะทำให้การหยุดเดินรถเพิ่มเป็น 50% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายภาค
“หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องอีก ทางผู้ประกอบการจะดำเนินมาตรการดังนี้ คือ 1.ปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้า และ 2.หยุดกิจการเดินรถ ขณะนี้มี 10 สมาคมที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ มีรถบรรทุกจำนวน 400,000 คัน และมีรถที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ที่ 1,500,000 คัน การเคลื่อนไหวดังกล่าวเนื่องจากแบกรับภาระค่าต้นทุนน้ำมันไม่ไหว เพราะวิ่งมากเท่าไหร่ขาดทุนมากเท่านั้น ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายน้ำมันอยู่ที่ 60,000-70,000 บาทต่อคันต่อเดือน” นายอภิชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image