คิดเห็นแชร์ : ‘ตลาดศักยภาพในสหภาพยุโรป และสินค้าดาวรุ่ง’

คิดเห็นแชร์ : ‘ตลาดศักยภาพในสหภาพยุโรป และสินค้าดาวรุ่ง’

คิดเห็นแชร์ : ‘ตลาดศักยภาพในสหภาพยุโรป และสินค้าดาวรุ่ง’

สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นตลาดการค้าระหว่างประเทศที่มีศักยภาพ ประชากรมีกำลังซื้อสูงจากระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า รายได้ต่อหัวต่อปีของประชากรในทวีปยุโรปเฉลี่ยประมาณ 38,000 เหรียญสหรัฐ และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่จากประชากรรวมกันเกือบ 450 ล้านคน ในปี 2565 ไทยพร้อมเดินหน้าเชิงรุกขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับ EU โดยเตรียมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-EU ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ร่วมด้วย FTA ไทย-เอฟต้า (EFTA) และ FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชนไทย และขยายโอกาสทางการค้าในทวีปยุโรปได้มากขึ้น

สถานการณ์ส่งออกสินค้าไทยไปตลาด EU

ปัจจุบัน (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) ไทยเกินดุลการค้ากับ EU อยู่ 3,080 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับ EU รวม 36,418 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.15 ล้านล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 22.5 นำเข้าสินค้าจาก EU มูลค่า 16,669 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.3 แสนล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 19.3 และส่งออกสินค้าไป EU มูลค่า 19,749 ล้านเหรียญสหรัฐ (6.2 แสนล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 23.0 ขยายตัวมากกว่าตลาดสหรัฐ และอาเซียน โดยเติบโตขึ้นตลาดภายในกลุ่ม EU และสินค้าส่งออกที่ขยายตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจ EU ที่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยอย่างรวดเร็ว

Advertisement

โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้แบ่งกลุ่มสินค้าส่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับการฟื้นตัว ดังนี้ (1) สินค้าที่มูลค่าส่งออกกลับมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ หลังจากหดตัวในปีที่ผ่านมา อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นต่อเนื่องแม้เกิดการแพร่ระบาดฯ ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร (3) สินค้าที่กำลังฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับมาเท่ากับระดับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (4) สินค้าที่ยังคงหดตัว อาทิ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื้อสัตว์

ตลาดส่งออกศักยภาพในปี 2565

สนค.มีมุมมองต่อการส่งออกไปตลาด EU ว่าผู้ส่งออกยังสามารถแสวงหาโอกาสทางการตลาดจากภูมิภาคนี้ได้อีกมาก แม้ว่าประเทศใน EU จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน แต่เศรษฐกิจจะยังขยายตัวจากปี 2564 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้โครงการ NextGenerationEU จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 4.3 สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านอัตรา ตามการคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป (EU Commission)

Advertisement

สินค้าที่มีโอกาส/สินค้าดาวรุ่งในตลาด EU

-กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ตลอดช่วงเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ
EU นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยสูงขึ้นทุกปี และยังมีแนวโน้มไปได้ดีต่อเนื่องในอนาคต โดย สนค.ได้วิเคราะห์กลุ่มสินค้าอาหารที่ EU นำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ประกอบด้วย ซอสและสิ่งปรุงรสอาหาร พาสต้าและเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง บิสกิต และเบเกอรี่ อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช อาหารปรุงแต่งสำหรับเด็กทารก ซุปและของปรุงแต่งสำหรับทำซุป และอาหารสัตว์เลี้ยง แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักคือ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการมีอาหารที่มีประโยชน์

-กลุ่มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม EU ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และมีบทบาทเป็นผู้นำสำคัญในเวทีโลกด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้หลายประเทศหันมาปรับกระบวนการผลิตสินค้าที่ลดปริมาณของเสีย และลดการสร้างมลภาวะสู่ธรรมชาติ ขณะเดียวกันฝั่งผู้บริโภคใน EU ต่างให้ความสำคัญกับธุรกิจและแบรนด์สินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งสินค้าที่จะได้รับประโยชน์ เช่น พลาสติกชีวภาพ/พลาสติกที่รีไซเคิลได้ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

-กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีดิจิทัล EU สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยุคดิจิทัล มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสาร สินค้าที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรับ/ส่งวิทยุ โทรทัศน์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี 5G เป็นต้น

-นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยควรต้องคำนึงถึงในการเข้าสู่ตลาด EU คือการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ เนื่องจาก EU ถือเป็นตลาดที่มีมาตรฐานสูงในการบริโภคสินค้า และปัจจุบัน EU ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งการใช้เป็นมาตรการทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปตลาด EU ควรเร่งปรับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ EU กำหนด ภายในปี 2569 ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังได้เดินหน้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ด้วย โดยมีตลาดยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image