เอสเอ็มอียึดหลัก ไทยแลนด์ 4.0 พลิกตัวหนี เหวลึกเศรษฐกิจไทย

เอสเอ็มอียึดหลัก ไทยแลนด์ 4.0 พลิกตัวหนี เหวลึกเศรษฐกิจไทย

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายให้ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนพร้อมกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีในระบบเศรษฐกิจกว่า 3 ล้านราย และที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 เผชิญกับปัญหามากมาย ที่หนักสุดคือขาดสภาพคล่องเงิน การทำธุรกิจได้ไม่เต็มที่และแบกรับภาระหนี้จนเกิดเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) ในเอสเอ็มอีจำนวนมาก

ซึ่งในปี 2565 แนวโน้มเอสเอ็มอีจะเป็นอย่างไร นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้ฉายภาพไว้ดังนี้

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

⦁ปี’65จีดีพีเอสเอ็มอีไม่เกิน3%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ GDP ของโลกปี 2564 ขยายตัว 5.9% แต่ปี 2565 เติบโตในอัตราลดลง และโตเหลือ 4.9% โดยสถานการณ์การส่งออกไทยยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการประเมินและการวางแผนลดการนำเข้า พึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการขาดดุลการค้า หรือเกินดุลการค้าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังน่าเป็นห่วงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโอมิครอน ที่ส่งผลต่อการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทยที่กังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าภายหลังเปิดประเทศเดือนพฤศจิกายนปีก่อนจะมีแนวโน้มดีขึ้น จนกระทั่งสถานการณ์แพร่ระบาดโอมิครอนขยายวงกว้าง ทำให้ต้องออกมาตรการระงับการเดินทางรูปแบบ Test & Go โดยเอสเอ็มอีจะเผชิญทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง จึงคาดการณ์ว่าจีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวเพียงเล็กน้อย ไม่เกิน 3% และยังคงสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีประมาณ 34-35% ในจีดีพีรวมทั้งประเทศ แต่สูงกว่าจีดีพีโดยรวม 1.2%

Advertisement

ปัจจัยสนับสนุนจีดีพีเอสเอ็มอีให้เพิ่มขึ้นคือ 1.เร่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเอสเอ็มอีในอีอีซีของการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงกลไกการส่งเสริมง่ายขึ้น และมีความรู้ความเข้าใจ ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่โดยใช้กลไกบูรณาการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จังหวัด และคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.)ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สร้าง กรอ. EEC ให้เกิดแผนขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน ซึ่งควรขยายผลมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กระจายไปตามส่วนภูมิภาคที่มีการลงทุนต่ำ อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุน เอสเอ็มอี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การลงทุนใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ และการลงทุนในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันตกเป็นต้น

2.ปรับเกณฑ์และกระบวนการให้พิจารณาสินเชื่อ SME เน้นการให้โอกาส ประเมินขีดความสามารถสร้างสรรค์ และขั้นตอนสั้น อนุมัติรวดเร็ว มีระบบที่ปรึกษาธุรกิจ SME ตลอดการใช้สินเชื่อเพื่อพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกลไก มาตรการ ข้อมูลข่าวสารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง SME ให้ใช้ประโยชน์มากขึ้น

3.ขยายสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สินค้าและบริการ SME หรือ SME GP จากเดิมไม่น้อยกว่า 30% เป็นไม่น้อยกว่า 50% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกหน่วยงาน รวมทั้งขยายโครงการดังกล่าว เพิ่มมาตรการจัดซื้อจัดจ้าง SME EEC เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจที่มาลงทุนในโครงการ EEC จากทั้งในและต่างประเทศ

Advertisement

4.ยกระดับ SME ลดนำเข้า-เพิ่มส่งออก จากตัวเลขการขาดดุลการค้าทุกปีของ SME เฉลี่ยประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี แม้ว่าภาพรวมการส่งออกปรับตัวสูงแต่ SME ยังพึ่งพาปัจจัยการผลิต วัตถุดิบจากต่างประเทศมาก ภาครัฐจึงกำหนดยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ผลิตสินค้าที่นำเข้าเพื่อให้ใช้ภายในประเทศ และนำข้อมูลการค้า การลงทุนในแต่ละประเทศมาทำแผนขยายตลาดให้ SME ไปเติบโตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

⦁คาดศก.ไทยขยายตัว3.5-4.5%

สำหรับจีดีพีรวมของประเทศคาดการณ์ของสภาพัฒน์ ปี 2565 ขยายตัวประมาณ 3.5-4.5% แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัจจัยลบความไม่แน่นอน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและภาคประชาชนยังต้องประเมินความรุนแรงของโอมิครอนช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ซึ่งมีภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับ ดังนี้

1.การบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนต่อระบบสาธารณสุข การเฝ้าระวัง จำนวนและประสิทธิภาพของวัคซีน ATK อุปกรณ์การแพทย์ และความพร้อมของสถานพยาบาลในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

2.ปัญหาการว่างงาน บัณฑิตตกงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยปี 2565 สวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน

3.สัญญาณหนี้ 3 กอง เหวลึกเศรษฐกิจไทย หนี้ครัวเรือน 90% ของจีดีพี หนี้เสีย 540,000 ล้านบาท และหนี้นอกระบบที่ประสบปัญหากับเอสเอ็มอี และประชาชนอีกนับล้านราย หากภาครัฐยังไม่จริงจังกับการสร้างระบบรองรับฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรม รายได้ลด หนี้เพิ่ม ดอกไม่ลด รายจ่ายเพิ่ม

4.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม ต้องเริ่มเปลี่ยนแนวคิด สร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้ถือบัตรที่เป็นวัยแรงงาน และสามารถพัฒนาขีดความสามารถ มีมาตรการเชื่อมจับคู่หางานกับผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอี หรือบ่มเพาะอาชีพสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อลดภาระภาครัฐ และช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจท้องถิ่น

⦁สมาพันธ์ฯเคาะแผนผลักดัน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีนโยบายการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบนิเวศ Thailand 4.0 ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการบ่มเพาะเอสเอ็มอีให้มีพื้นฐานของการสร้างสรรค์ความแตกต่างที่ตอบโจทย์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้ 1.พัฒนาทุนมนุษย์เอสเอ็มอี เชื่อมโยง ส่งเสริมสนับสนุนการเข้าถึงระบบนิเวศการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ด้านยกระดับขีดความสามารถความเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นต้น ด้านการสร้างพลเมืองเอสเอ็มอีดิจิทัล (Dgital SME Citizenship) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้กับบุคลากร แรงงาน ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีทักษะ ความรู้ความชำนาญด้านดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการค้าออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัยพัฒนาธุรกิจภาคการค้า การบริการ การผลิต และภาคธุรกิจการเกษตรผ่านโครงการต่างๆ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation) ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกลไกความร่วมมือของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกับหน่วยงานภาครัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความสร้างสรรค์ นวัตกรรมภาคธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น

⦁เร่งสปีดเพิ่มสัดส่วนแตะ50%

อีกทั้ง 2.พัฒนาแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เชื่อมโยง ร่วมมือภาคธนาคารเพื่อเพิ่ม Success rate ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รับการพิจารณาสินเชื่อ การเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอัตราการผ่านสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 30โดยใช้กลยุทธ์บูรณาการสร้างแต้มต่อ บ่มเพาะก่อนขอ ได้สินเชื่อใช้อย่างมีวินัยและตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งระบบที่ปรึกษาที่จะช่วยเชื่อมโยงหน่วยงานสนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

3.พัฒนาเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่ตลาดโลก โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความรู้ ความเข้าใจทิศทาง แนวโน้มตลาดต่างประเทศในแต่ละประเทศที่เป็นเป้าหมาย และเพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้าตลาดในต่างประเทศ โดยดำเนินการโครงการ Business matching และ Coaching ร่วมกับ สสว. และ EXIM Bank เพื่อเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีที่มีขีดความสามารถในการส่งออกจากเดิมที่มีอยู่เพียงไม่เกิน 30,000 ราย และเพิ่มมูลค่าสัดส่วนการส่งออกให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่าเดิมที่ร้อยละ 12-13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

และ 4.พัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ กำจัดต้นทุนธุรกิจส่วนเกิน รวมทั้งมีแผนจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และส่งผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เข้ารับการอบรมอนุญาโตตุลาการของสำนักอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาการเจรจาประนอมหนี้ การถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวของสมาพันธ์จะช่วยเสริมสร้างการตระหนัก รับรู้ ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะช่วยขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีจากเดิม 34% ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ ให้มีมากกว่า 50% ในอนาคตอันใกล้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image