สนามวัวชน จ.สุโขทัย คว้ามอก.เอส รายแรกของโลก

สมอ. มอบมอก.เอส “สนามวัวชน” รายแรกของไทย ยกระดับแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมรายได้สู่ชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ส่งเสริมพัฒนาและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ผ่านโครงการและมาตรการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน การออกแบบรรจุภัณฑ์ ฉลาก สติกเกอร์ และมาตรการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอี ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกใบรับรองมาตรฐาน มอก. เอส ให้แก่บริษัท วัวชนทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย จำกัด เป็นเอสเอ็มอีรายแรกของไทย และรายแรกของโลกที่ได้มาตรฐานการให้บริการสนามชนวัว และเตรียมผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป

Advertisement

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสมอ. กล่าวว่า มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก. เอส เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ สมอ. ได้ให้การรับรองสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐาน มอก. เอส แล้วทั้งสิ้น 179 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จำนวน 111 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านการบริการ จำนวน 68 มาตรฐาน  โดยมีผู้ประกอบการได้รับการรับรองแล้วจำนวน 72 ราย สำหรับบริษัท วัวชนทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย จำกัด ให้บริการสนามกีฬาชนโค ตั้งอยู่ ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย นับเป็นเอสเอ็มอีรายแรกของไทย ที่ให้บริการสนามกีฬาชนโคที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. เอส เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มอก.เอส เลขที่ 188-2564 จาก สมอ. ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้นแบบที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป

ปัจจุบันมีเอสเอ็มอี และกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ หรือ สตาร์ตอัพ เปิดให้บริการสนามกีฬาชนโคจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกีฬาที่มีผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ส่งผลดีทางอ้อมในการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบสนามกีฬา โดยมีรายได้จากการเลี้ยงวัวชน ปลูกหญ้า โรงแรมที่พัก การคมนาคม การขนส่ง การค้าขาย และการท่องเที่ยว สนามกีฬาชนวัวจึงไม่ใช่แค่กีฬาเพื่อความบันเทิงเชิงวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่านั้น แต่มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐาน มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี และมีการควบคุมโรคที่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยสนามชนวัวที่ได้มาตรฐานนั้นจะต้องมีคุณภาพที่สม่ำเสมอของการให้บริการ ต้องได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการจัดตั้งสถานที่ชนวัว  ต้องจัดเตรียมสถานที่ อาทิ สนามชนวัว สนามเปรียบวัว ให้มีพื้นที่เพียงพอ เป็นสัดส่วน ปลอดภัย  สะอาด และถูกสุขลักษณะ ต้องกำหนดเลขที่นั่งสำหรับผู้เข้าชมอย่างชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของคนและวัว ต้องมีการดำเนินการให้พื้นสนามมีลักษณะที่ลดการบาดเจ็บของวัว อาทิ ผิวสนามเป็นดินทรายที่มีความหนาของทรายมากกว่า 15 เซนติเมตร  จัดให้มีที่นั่งอัฒจันทร์ มีการระบุเลขที่นั่งชัดเจน เป็นสัดส่วน และต้องมีความแข็งแรง มีการเว้นระยะห่างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้เข้าชม และป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด และมีที่กั้นที่มีความมั่นคงแข็งแรงระหว่างสนามกับผู้ชม

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image