ครม.ทุ่ม 574 ลบ. เยียวยาผู้เลี้ยงหมู 56 จว. ปศุสัตว์แจงผลตรวจพบโรค ‘เอเอสเอฟ’ ในไทย

ครม.ทุ่ม 574 ล้านบาท เยียวยาผู้เลี้ยงหมู 56 จังหวัด ปศุสัตว์แจงผลตรวจพบโรค ‘เอเอสเอฟ’ ในไทย บิ๊กตู่สั่ง พณ.ลุยแก้ของแพง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม กรณีปัญหาสินค้าราคาแพงได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ราคาพุ่งเกินกิโลกรัมละ 200 บาท และล่าสุดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มได้ปรับเพิ่มอีกฟองละ 20 สตางค์ ทำให้ร้านค้าต้องปรับราคาตาม ล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคมว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า เป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-15 ตุลาคม 2564 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ.2560 แล้ว

นายธนกรกล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุมัติงบกลางในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคใต้ 10 จังหวัด ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว

  • สั่งพณ.-กษ.แก้ของแพง

นายธนกรตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมาย ชี้แจงถึงการการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงในปัจจุบันว่า นายกฯได้สั่งการให้มีการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า นายกฯสั่งกำชับ พณ.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) อย่างไรในการควบคุมและแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง เช่น หมูสด ไข่ไก่ นายธนกรกล่าวว่า นายกฯชี้แจงว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หามาตรการแก้ไขระยะสั้นและระยะยาว และขอความร่วมมือช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในช่วงเวลานี้

Advertisement

เมื่อถามว่านายกฯมีความเห็นอย่างไรหลังมีการวิเคราะห์ว่า ถ้าแก้ปัญหาหมูแพง ราคาสินค้าต่างๆ แพง ไม่ได้ ประชาชนยังเดือดร้อนหนักหมูอาจจะล้มรัฐบาลได้ โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนวิเคราะห์ รัฐบาล ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นผู้วิเคราะห์และหาหนทางในการแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จะนำเอาประเด็นเหล่านี้มาสร้างปัญหาเกี่ยวพันไปเรื่อย

  • บิ๊กตู่ฮึ่มขันนอตปลัด-อธิบดี

รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการประชุม ครม.ที่พิจารณาวาระของกระทรวงเกษตรฯที่ขออนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้มีการของบประมาณเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2563 ขอมา 2-3 รอบแล้ว แสดงว่ามีการดำเนินการอยู่ รู้อยู่ว่าเกิดโรคระบาดขึ้น ดังนั้น ขอให้เร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโดยเร็ว ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนให้แก้ไขปัญหาตรงนั้น หมูแพงเกิดจากอะไร ถ้าเป็นเพราะต้นทุนก็แก้ต้นทุน โรคระบาดก็ต้องรีบแก้ไขปัญหา และขอให้ระวังเรื่องโดนระงับการส่งออก 5 ปี ขอให้ พณ.และกระทรวงเกษตรฯดูแลเป็นพิเศษ มีหลายคนบอกผมว่าให้ย้ายอธิบดีกรมปศุสัตว์ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ให้เขาชี้แจงแถลงข่าวให้ประชาชนรู้ด้วย และขอให้รัฐมนตรีไปกำชับปลัดกระทรวงและอธิบดีด้วยว่า ใครรับผิดชอบอะไรก็ขอให้ดูด้วย เพราะมีผลต่อตำแหน่งทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา

  • ‘เฉลิมชัย’แย้มพัฒนาวัคซีน

ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรฯได้สรุปเรื่องโรคระบาดในหมูตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และจะแถลงโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะต้องระวังกระทบกับผู้ค้ารายย่อย แต่ถ้าทำได้จะช่วยในเรื่องราคาเนื้อหมูแพงได้ อย่างไรก็ตามมีข่าวดี เนื่องจากที่ผ่านมาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังไม่เคยมีวัคซีนออกมาไม่มีใครผลิตได้เป็นร้อยๆ ปี กระทรวงเกษตรฯกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนา น่าจะผลิตได้เป็นที่แรกในโลก หากเรื่องนี้ประสบความสำเร็จจะถือเป็นเรื่องที่ดี

Advertisement
  • ชี้หากเสียหายพีคสุด5.5หมื่นล.

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เสนอกระทรวงพาณิชย์นำเข้าหมูมาบริโภคภายในประเทศก่อน อาทิ หมูจากประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาถูก สามารถนำเข้ามาได้ภายใน 3 วัน ขอเพียงกระทรวงพาณิชย์อนุมัติการนำเข้าเท่านั้น ส่วนที่พบโรคเอเอสเอฟในไทย เบื้องต้นไม่กระทบการส่งออกเพราะหมูไทยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ จึงไม่มีให้ส่งออกแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งสมมุติฐาน 4 กรณี คือ กรณีเกิดโรคระบาด 30% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อย 5,133 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 11,544 ล้านบาท รวม 16,678 ล้านบาท กรณีเกิดโรคระบาด 50% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 8,556 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 19,236 ล้านบาท รวม 27,792 ล้านบาท กรณีเกิดโรคระบาด 80% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 13,690 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 30,777 ล้านบาท รวม 44,468 ล้านบาท และกรณีเกิดโรคระบาด 100% เสียหายเกษตรกรรายย่อย 17,112 ล้านบาท เกษตรรายใหญ่ 38,472 ล้านบาท รวม 55,585 ล้านบาท

  • ปศุสัตว์เจอเอเอสเอฟที่โรงฆ่า

นายสัตวแพทย์ (นสพ.) สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) กล่าวถึงสถานการณ์โรคเอเอสเอฟในไทยว่า จากการจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง และสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา รวม 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง รวม 309 ตัวอย่าง จาก จ.ราชบุรีและนครปฐม พบเชื้อเอเอสเอฟ 1 ตัวอย่าง จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจาก จ.นครปฐม ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ขณะนี้ชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ยืนยันว่าที่ผ่านมา กรมมีการตรวจสอบข้อมูลต่อเนื่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่มีการปกปิด ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตรวจสอบ
ต่อเนื่อง

  • เล็งประกาศเขตโรคระบาด

นสพ.สรวิศกล่าวว่า การดำเนินงานกรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์จะประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค และจะพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคการเคลื่อนย้ายสุกรทุกตัววัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (โอไออี) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ ล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรคเอเอสเอฟแล้ว และเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว กรมเห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรคเอเอสเอฟ และรายงานไปยังโอไออีต่อไป

  • โรงเชือดโวย-จี้ตรวจเลือด

ที่ จ.นครปฐม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์หรือโรงหมู ต่างไม่พอใจ กรณีการตรวจพบเชื้อ ASF ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์รายหนึ่งเปิดเผยว่า การเข้าตรวจหรือการเข้ามาเก็บตัวอย่างหาเชื้อโรค โดยการใช้ผ้าก๊อซมาเช็ด ซับน้ำ เลือดจากพื้นในโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์โรคนั้น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องที่สุด เพราะโรงฆ่าสัตว์มีทั้งยานพาหนะขนส่งสินค้า อาจจะมีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนที่พื้นได้ การจะตรวจหาเชื้อโรคที่ร้ายแรงขนาดนี้ต้องตรวจเลือดสัตว์ ไม่ใช่มาสุ่มเอาสารคัดหลั่งจากพื้นในโรงเชือดแบบนี้

  • พณ.ตรึงราคาไก่6ด.จูงใจแทนหมู

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงว่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน กรมได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ขอให้ตรึงราคาในปัจจุบันต่อเนื่อง 6 เดือน (กลางเดือนมกราคม-กลางเดือนมิถุนายน 2565) โดยราคาจำหน่ายไก่มีชีวิต 33.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไก่สด (รวม/ไม่รวมเครื่องใน) 60-65 บาทต่อ กก. น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาทต่อ กก. เนื้ออก 65-70 บาทต่อ กก. ปัจจุบันคนไทยบริโภคไก่ 1.32 ล้านตันต่อปี ผลผลิตไก่รวม 2.9 ล้านตันต่อปี และส่งออก 1 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และกรมปศุสัตว์ ตรึงราคาไข่ไก่ โดยข้อมูลต้นทุนเลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.85 บาทต่อฟอง ดังนั้น จะหารือโครงสร้างต้นทุนการเลี้ยง ผลผลิต หลังสมาคมประกาศปรับราคาไข่คละเป็น 3 บาทต่อฟองไก่เนื้อ ไข่ไก่ ไม่ได้ขาดตลาด ผลผลิตยังสูงเพียงพอกับบริโภคและการค้า ตอนนี้มีเพียงเนื้อหมูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากปกติกว่า 30% แต่ความต้องการยังสูงทำให้ราคาแพงขึ้น ปัจจุบันราคาซื้อขายจริงของสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 108 บาทต่อ กก. ต่ำกว่าราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรประกาศซึ่งอยู่ที่ 110 บาทต่อ กก.

  • ของบกลางขายสินค้าถูก1.5พันจุด

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า พณ.จะทำมาตรการอื่นประกอบ ได้แก่ 1.การเปิดจุดจำหน่ายเนื้อหมู ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยจะของบกลางรัฐบาลเพิ่มจุดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ และกำลังหารือเปิดจุดขายตามสถานีน้ำมันที่มีรวม 1,000 แห่ง 2.ร่วมกับผู้ผลิตสินค้าจัดทำสินค้าราคาประหยัดโครงการธงฟ้า 3.จับคู่วัตถุดิบอาหารสัตว์กับเกษตรกรผู้เลี้ยง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์วัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ราคาขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 8.87 บาทต่อ กก. ในปลายปี 2563 เป็น 9.95 บาทต่อ กก. ในปี 2564 และ 10.66 บาทต่อ กก. ในต้นปี 2565

นายวัฒนศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารปรุงสำเร็จว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินสมควร และอาจเพิ่มมาตรการดูแล อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบต้นทุนโครงสร้างสินค้า อาทิ ก๊าซหุงต้ม เนื้อหมูบางชนิดที่ขึ้นราคา ยังเป็นสัดส่วนไม่สูงจนกระทบต่อภาพรวมการปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จต้องขึ้นราคาเกินจริง ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่ขยับขึ้น เป็นปลายฤดูผลิต เดือนกุมภาพันธ์ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด ราคาจะอ่อนตัวลงไม่น่ากังวล

  • กบง.ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม-เอ็นจีวี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานที่การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้พิจารณาจากสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่แม้ต้นทุนจริงจะสูงถึง 412 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติม จึงมีมติคงราคาเดิมที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก. ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคมนี้ นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คงส่วนลดราคาก๊าซแอลพีจีแก่ผู้มีรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถึงวันที่ 31 มีนาคม เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image