วอนรัฐอัดเงินเข้าระบบ 3-5 แสนลบ. ช่วงไตรมาสแรก พยุงเศรษฐกิจรอด

วอนรัฐอัดเงินเข้าระบบ 3-5 แสนลบ. ช่วงไตรมาสแรก พยุงเศรษฐกิจรอด

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เนื่องจาก ศบค. ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเป็นการรองรับมาตรการเปิดประเทศ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) บินเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แม้ว่าศบค. มีคำสั่งยกเลิก การยกเลิกมาตรการเปิดประเทศภายใต้ระบบเทสต์ แอนด์ โก พร้อมปิดรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าไทยตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2564 ถึง 4 มกราคม 2565 ก็ตาม ประกอบกับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีมุมมองดีขึ้นต่อการลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภค การเมือง และมุมมองต่อความสุขในการดำรงชีวิตดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ 70% ระบุมีความสุขระดับน้อย เพราะกังวลจต่อโรคระบาดและรายได้ต่ออนาคตจากแบกรับภาระค่าใช้จ่าย หนี้ครัวเรือน และเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร

“ความกังวลเกี่ยวกับความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ และไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากโอมิครอนยังติดเชื้อสูงในเดือนมกราคม แล้วเริ่มลดลงในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เริ่มใช้เทสต์ แอนด์โก ในไตรมาส 2 /2565 รัฐออกมาตรการลดภาระประชาชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง โปรโมตเที่ยวไทย โดยรัฐควรเสริมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 3-5 แสนล้านบาทภายใน 2 เดือนของปีนี้ ก็จะช่วยพยุงจีดีพีในไตรมาสแรกให้ต่อได้ต่อเนื่อง โดยศูนย์พยากรณ์ฯยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี2565 ขยายตัว 4% โดยครึ่งปีแรกขยายตัว 2.5-3.0 % และครึ่งปีหลังขยายตัว 5-7% บนสมมุติฐานสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อเข้าไตรมาสสอง เศรษฐกิจไตรมาสสองเริ่มดีขึ้น จากการแพร่ระบาดโอมิครอนไม่รุนแรงถึงขั้นล็อกดาวน์ จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยได้มากขึ้น และรัฐออกมาตรการต่อเนื่อง จะไม่กระทบต่อการจ้างงาน ที่คาดอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.6-1.8% และการที่ปีก่อนในบางไตรมาสตัวเลขต่ำ” นายธนวรรธน์ กล่าวต่อ

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ดูในรายละเอียด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 40.1 42.7 และ 55.7 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ 38.8 41.4 และ 54.5 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ดีขึ้นจากระดับ 44.9 เป็น 46.2 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดรอบ 9 เดือน แต่ดัชนียังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม มองว่ายังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิดในไทยและทั่วโลก ซึ่งคงส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้สำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย(ภาคธุรกิจ) เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ดัชนีดีขึ้นทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นฯในปัจุบัน ความเชื่อมั่นฯในอนาคต อยู่ที่ 37.7 38.8 36.7 ตามลำดับ จากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 28.1 22.47 และ 33.5 ตามลำดับ ซึ่งมีปัจจัยบวกและลบเหมือนความเชื่อมั่นภาคประชาชน โดยภาคธุรกิจ ได้นำเสนอต่อรัฐเร่งดำเนินการ คือ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 หลังจากเทศกาลวันหยุดยาว แต่ไม่ควรให้กระทบภาคธุรกิจ เช่น การล็อกดาวน์หรือสั่งปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว ที่จะสร้างความเสียหายมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 3-5 แสนล้านถึงกว่า 8 แสนล้านบาท รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ โดยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ เร่งการดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการ และควบคุมราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ อาทิ การปรับขึ้นของเนื้อหมู ก็จะกระทบต่ออาหารปรุงสำเร็จ และการทยอยปรับราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรกสูงขึ้น 2.0-2.5% ครึ่งปีหลังสูงขึ้น 1.0-1.5% และทั้งปีสูงขึ้น 1.5% อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชน พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 3-4 เพื่อกระตุ้นอย่างทั่วถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image