ส.ภัตตาคารเปิดงบค่าอาหารผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ได้แค่ 40-50 บาทต่อมื้อ จากงบจริง 300 บาทต่อวัน

ส.ภัตตาคารเปิดงบค่าอาหารผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ได้แค่ 40-50 บาทต่อมื้อ จากงบจริง 300 บาทต่อวัน

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยหลายโรงพยาบาลเริ่มตึงตัวขึ้น ภาครัฐจึงมีแนวทางในการแยกกักตัวที่บ้าน (โฮมไอโซเลชั่น) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย เพื่อลดความแออัดของการครองเตียงในโรงพยาบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางการจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบโฮมไอโซเลชั่น ซึ่ง สปสช. มีงบประมาณในการจัดจ้างร้านอาหาร เพื่อทำอาหารและจัดส่งให้ผู้ป่วย จำนวน 400 บาทต่อคนต่อวัน แบ่งเป็นค่าอาหารมื้อละ 100 บาท 3 มื้อ และค่าจัดส่ง 100 บาท โดยได้ร่วมกับสมาคมในการจัดหาร้านอาหารและว่าจ้างให้ดำเนินการ แต่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารถูกว่าจ้างให้จัดทำอาหารสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในราคาเพียง 40-50 บาทต่อมื้อเท่านั้น ส่วนงบประมาณที่เหลือถูกหักออกไประหว่างทาง ซึ่งมองว่าการกระทำในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

“การกำหนดงบค่าอาหารให้ร้านที่รับว่าจ้างในอัตรา 100 บาทต่อมื้อ เพื่อให้สามารถหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาทำอาหารให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดได้ รวมถึงตั้งใจให้งบประมาณนี้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดทำระบบโฮมไอโซเลชั่น เนื่องจากในช่วง 2 ปีมา ผู้ประกอบการร้านอาหารมีความเดือดร้อนมากไม่แตกต่างจากหลายธุรกิจอื่นๆ สาเหตุเพราะมาตรการควบคุมการระบาดโควิด แม้ส่งผลกระทบในด้านรายได้อย่างหนัก แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ให้ความร่วมมืออย่างดี จึงอยากให้งบประมาณในส่วนนี้ ถูกบริหารให้กระจายลงไปถึงร้านอาหารได้มากร้านที่สุด เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจต่อไป” นางฐนิวรรณกล่าว

นางฐนิวรรณกล่าวว่า เน้นย้ำว่าการจัดจ้างร้านอาหารให้รับดำเนินการทำอาหารและส่งให้ผู้ป่วยนั้น อยากให้กระจายลงไปในผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ทั่วถึงด้วย เพราะที่ผ่านมาร้านอาหารขนาดเล็กแทบไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ เนื่องจากระยะเวลาในการรับค่าจ้างนั้น ต้องรอนานกว่า 2 เดือน ทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กไม่มีความสามารถในการรอได้นานขนาดนั้น การว่าจ้างจึงกระจุกตัวอยู่ในร้านอาหารขนาดใหญ่ๆ ไม่กี่ร้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image