อรรถกฤต บิทคับ มองเทรนด์ใหม่ สินทรัพย์ดิจิทัล
ตลาดซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัล ยังฮิตฮอตต่อเนื่อง มีนักลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่สนใจเข้าไปลงทุนซื้อขายกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันยังมีข้อถกเถียงถึงข้อดี-เสีย เรื่องการกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเรื่องการเก็บภาษีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
อรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ มติชน ถึงเทรนด์ตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัล และความเห็นถึงเรื่องการกำกับดูแลรวมถึงการเก็บภาษี ไว้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีผู้ใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันที่บริษัท บิทคับ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนกว่าหมื่นคนต่อวัน คาดว่าการเติบโตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี จะมีการนำมาใช้งานแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ NFT, Fans Token, Peer-to-Peer Lending (P2P) จะเกิดขึ้นอยู่บนบล็อกเชน
ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายลูกค้าไว้อยู่ที่ 5 ล้านราย ปัจจุบันตอนนี้มีลูกค้ากว่า 1.6 ล้านราย ปริมาณการทำธุรกรรมต่อวันอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อวัน และในอนาคตตามที่ลูกค้าสมัครและยืนยันตัวตนเข้ามาเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมต่อวันโตขึ้น 3 เท่า หรืออยู่ที่ 30,000 ล้านบาทต่อวัน อีกทั้งบริษัทยังมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ประมาณ 90%
พร้อมกับการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจว่าจะเป็นประเทศใด โดยลักษณะประชากรในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ความตื่นตัวในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมีน้อยกว่าประเทศไทย โดยความท้าทายในประเทศเพื่อนบ้านคือ บรรยากาศในประเทศตอนนี้มีความคล้ายกับประเทศไทยในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องมีการให้การศึกษาให้ความรู้กับนักลงทุนหน้าใหม่ พร้อมกับหน่วยงานกำกับของแต่ละประเทศนั้นๆ ด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทในปีที่แล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มหลายๆ เจ้ามาก่อนแล้ว โดยเฉพาะแพลตฟอร์มเบอร์ 1 ของโลกก็เคยเผชิญปัญหาระบบล่ม การปิดระบบรับสมัครลูกค้าใหม่ ก็เป็นประสบการณ์ที่บริษัทได้เรียนรู้ และนำมาพัฒนาต่อ จนปัจจุบันนี้ระบบของบริษัทมีการพัฒนาที่ดีขึ้น สามารถรองรับผู้ใช้งานจากเดิมได้หลายเท่าตัว มีระบบการเฝ้าระวัง ระบบการแจ้งเตือนอยู่ตลอดเวลา และการอัพเดตระบบอยู่เป็นประจำ ทีมงานไม่ได้นิ่งดูดาย
ปัจจุบันจำนวนบุคลากรของบริษัทในการตรวจสอบการยืนยันตัวตนของลูกค้ามีมากเพียงพอกับปริมาณที่ลูกค้าเข้ามาสมัครกว่าหมื่นคนต่อวัน โดยลูกค้าสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับการเพิ่มพนักงานในส่วนต่างๆ หลายเท่าตัวโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาระบบ และด้านบริการลูกค้า ให้รองรับกับการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีพนักงานบริษัทและบริษัทในเครือรวมกว่า 1,500 คน
อีกทั้งปีนี้บริษัทจะมีการย้ายระบบการซื้อขายไปยังระบบของบริษัท Nasdaq ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Trading Engine ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ใช้บริการอยู่เช่นกัน ผู้ลงทุนสามารถสบายใจได้ว่าระบบของบริษัทสามารถรองรับได้ และจะไม่หยุดพัฒนาต่อไปเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตให้มากขึ้น
พร้อมกับการอัพเกรดระบบการยืนยันตัวตนแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเปิดบัญชีกับทางบริษัทได้ง่ายมากขึ้น ตอบรับกับนักลงทุนหน้าใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในตลาดนี้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งบริษัทจะเฟ้นหาคริปโทฯที่มีคุณภาพมาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนมากขึ้นกว่า 100 ตัว ซึ่งปัจจุบันมีคริปโทฯซื้อขายอยู่ในแพลตฟอร์มประมาณ 50 ตัว รวมไปถึงบริษัทตั้งเป้าเป็น One Stop Service ในธุรกิจคริปโทฯ จะมีการตั้งหน่วยธุรกิจเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ต้องขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ต้องให้มีการขอใบอนุญาตในอนาคต
ส่วนการเก็บภาษีคริปโทฯในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ หน่วยงานของรัฐยังมีอุปสรรคในการบังคับใช้งานจริง ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไม่ได้เก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gain Tax) กับนักลงทุนทั่วไป อีกทั้งยังแบ่งประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ประเภทอื่น ที่ไม่เข้าข่ายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ฉะนั้น เมื่อเทียบกฎระเบียบของประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่ามีความเป็นมิตรกับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าในประเทศไทยมาก
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องไปปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐต่อไปว่าทางออกที่เหมาะสมของประเทศไทยคืออะไร จะทำกันอย่างไรไม่ให้นักลงทุนไทยย้ายไปใช้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพราะว่าอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน พร้อมเป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
เข้าใจดีว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องปกติที่กฎเกณฑ์การใช้งานอาจจะใช้งานจริงไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถดูได้ คือศึกษาหรืออ้างอิงจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่มีการใช้งานอย่างจริงจัง เราเองในฐานะผู้ประกอบธุรกิจและอยู่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างยาวนาน ยินดีที่จะให้การช่วยเหลือ
การให้ข้อมูลเชิงลึก ให้คำแนะนำ และการหาทางออกร่วมกันกับภาครัฐว่าอะไรเหมาะสมกับประเทศนี้ต่อไป