โหนกระแส ‘หมูแพง’ สินค้าเฮโลขึ้นราคา ดันค่าครองชีพคนไทยทะลุเพดาน

โหนกระแส ‘หมูแพง’ สินค้าเฮโลขึ้นราคา ดันค่าครองชีพคนไทยทะลุเพดาน

ความวิตกกังวลต่อปัญหาและผลกระทบจาก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) อีกหนึ่งปัญหาทั้งคนในประเทศและหลายประเทศต้องกุมหน้าผาก!! เกาะติดและเฝ้ามองว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายได้อย่างไร เพราะยังมีข้อกำจัดเรื่องไม่มีวัคซีนแก้อาการหรือมียาจำเพาะ ในไทยเองกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องวัดฝีมือการทำงานของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล อะไรรุดหน้า อะไรวนกลับมาที่เดิม หลังจากกรมปศุสัตว์ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าประเทศไทยเจอการแพร่ระบาดของโรคเอเอสเอฟจริงในสุกร คู่ขนานไปกับพบการระบาดของโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ (โรคเพิร์ส) ผลเสียหายที่ตามมาคือเมื่อผลผลิตขาดแคลน ความต้องการแม้เท่าเดิมแต่ก็ต้องแย่งชิงซื้อหา ส่งผลต่อราคาพุ่งพรวดในระยะเวลาอันสั้น ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการ ซึ่งมาพร้อมกับข้อสงสัย เหตุจริงของปัญหาคือข้อมูลถูกปกปิด!!

⦁ผวากินหมูหลังเจอ‘เอเอสเอฟ’
เมื่อยอมรับแล้วว่ามีมูล ไทยเจอเอเอสเอฟในสุกรแล้ว 1 ตัวอย่าง จากการทำการตรวจรอบแรก 309 ตัวอย่าง ซึ่งตัวอย่างนั้นเจอบนพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม กรมปศุสัตว์จึงออกประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (โอไออี) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบอีกด้วย ตามด้วยการตั้งวอร์รูมติดตามข้อมูล และปูพรมตรวจหาเชื้อกันต่อไป ทางการมองว่าเป็นมาตรการล้อมคอก!!

พร้อมกันนี้ ก็ต้องกังวลเพิ่มอีกเมื่อเกิดข่าวเจอการปนเปื้อนในอาหารพร้อมทานที่มีส่วนผสมจากเนื้อหมูที่หลุดต่างประเทศ อย่างไต้หวันระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสุกรของไทยเข้าประเทศชั่วคราว ไม่ว่าจะมีทางใดแม้กระทั่งเป็นการส่งทางไปรษณีย์แบบญาติส่งให้ญาติ หลังที่ได้ตรวจพบเชื้อเอเอสเอฟในกุนเชียงจากไทย แม้โรคนี้ถูกยืนยันแล้วว่าเมื่อมีการทำให้สุกและถูกแปรรูป ความเสี่ยงกินแล้วติดคนสู่คนนั้นไม่เกิดขึ้นแน่ แต่ก็ต้องรอดูผลทางจิตวิทยาต่อการนำเข้าสินค้าแปรรูปที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบจะกระทบหรือไม่ ซึ่งปีนี้ไทยส่งออกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หากรวมกับแบบหิ้วหรือส่งไปรษณีย์ข้ามประเทศ ผู้ผลิตสินค้าประเมินน่าจะถึง 2-3 พันล้านบาทต่อปี

⦁ธุรกิจ‘ภาพสวย’ชี้ไม่กระทบเชื่อมั่น
แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มตื่นตัวกับโรคดังกล่าวแล้ว แต่จากการสอบถามไปยังภาคเอกชนต่างมีความเห็นว่า การที่กรมปศุสัตว์ออกมายอมรับว่าไทยตรวจพบการระบาดของโรคเอเอสเอฟในสุกร เป็นเรื่องปกติและมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในการซื้อ-ขาย ส่งออก หรือบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากโรคระบาดในสัตว์มีโอกาสเป็นได้ แต่ที่สำคัญมาตรการหลังจากประกาศโรคระบาดแล้วนั้นมีอย่างไร คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อหมูในประเทศนั้น จะต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจว่าโรคดังกล่าวไม่ได้เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องสื่อสารถึงประชาชนให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก

เจ้าของร้านอาหาร ZEN ตั้งในศูนย์การค้า บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า “ยังไม่มีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้าน ถามหรือแสดงความกังวลต่อการสั่งเมนูเนื้อหมู ทั้งที่เป็นแบบบุฟเฟต์ที่ต้องบริการลวกทานกันเอง หรือเมนูปรุงสำเร็จแล้ว อีกทั้งยอดขายชุดเนื้อหมูไม่ได้ลดจนผิดสังเกต แต่ลดจำนวนการสั่งเพราะราคาสูงขึ้นมากกว่า โดยหันไปสั่งเนื้อสัตว์ชนิดอื่นทดแทน ผมเชื่อว่าสินค้าแปรรูปก็น่าจะเหมือนกัน”

⦁กำชับทูตพณ.สำรวจผลกระทบ
หันมาถามทางการ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุในเรื่องนี้ว่า หลังจากมีความวิตกต่อผลกระทบส่งออกสินค้าไทยที่มีวัตถุดิบจากเนื้อหมู หลังจากกรมปศุสัตว์ระบุเจอโรคเอเอสเอฟในสุกรจึงกำชับให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามสถานการณ์และตรวจเช็กข้อมูลนำเข้าสุกรทุกรูปแบบจากไทยและประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ว่าได้ผลกระทบและมีทิศทางอย่างไร

ยังระบุอีกว่า แต่ประเด็นที่กังวลอาจมองในเรื่องภาพลักษณ์ ซึ่งโรคระบาดในหมูหลายประเทศก็เจอไม่ใช่แค่ประเทศไทย และเชื่อว่ากรมปศุสัตว์ของไทยเร่งแก้ไขผ่านได้ในที่สุด ส่วนเรื่องผลกระทบต่อการส่งออกหากเป็นการแปรรูปแบบไม่เห็นผ่านความร้อนสูงหรือผ่านกระบวนด้านอาหาร อาทิ หมูกระป๋อง หรือส่วนผสมในบะหมี่สำเร็จรูป ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร

⦁ศูนย์วิจัยโชว์ราคาหมูพุ่งอีก
แม้ในภาพรวมการส่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร และสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตในประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปัญหาโรคระบาดในสุกร ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีต้นทุนในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม และการลดลงของเกษตรกรเลี้ยงสุกรรายย่อยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up demand) ภายหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวต่างเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาเนื้อสุกรในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

จากปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ต้องใช้เวลาในการคลี่คลาย รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาลที่สภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ราคาเนื้อสุกรจะยังยืนราคาสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไม่รุนแรง ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง

โดยคาดว่าราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ อาทิ ผัก น้ำมันพืช ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 8-10% และไม่ใช่แค่หมูเท่านั้น ผลวิเคราะห์พบว่าเนื้อสัตว์และพืชเศรษฐกิจหลักๆ อยู่ในทิศทางขาขึ้นทั้งสิ้น อัตรามีตั้งแต่ 5-25% ตามชนิดสินค้า และคนไทยต้องบริโภคเนื้อสัตว์และพืชแพงขึ้นแล้วจากนี้ ดูจากการสำรวจราคาอาหารตลาดสดขึ้นยกแผงรอรับหน้าขายตรุษจีนแล้ว

⦁แนะรัฐใช้ระบบเตือนภัยราคา
นักวิชาการ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองต่อการรับมือเพื่อเป็นบทเรียนกับผลผลิตสัตว์และพืชเพื่อการบริโภคไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขเร่งด่วนคือต้องเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มไม่มีทุนรอน ส่งเสริมการเลี้ยงทั้งผู้เลี้ยงและพื้นที่ใหม่ๆ หากฟาร์มที่มีอยู่พบการระบาดของโรคเอเอสเอฟ แม้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้ว เชื้อโรคก็ไม่ได้ไปไหน หากยืนยันว่าให้เลี้ยงที่เดิมถือว่าเดินผิดทาง ต่อให้เลี้ยงใหม่ก็เจ๊งเหมือนเดิม และปี 2565 อุตสาหกรรมหมูอาจเดินต่อไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งกฎช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยเดินหน้ากิจการต่อโดยรัฐต้องจัดสรรงบสนับสนุน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการเยียวยาฟาร์มที่เจอการระบาดและทำลายแล้ว

นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนผู้เลี้ยงรายใหม่ เลี้ยงบนวิถีใหม่ให้มั่นใจปลอดเชื้อเอเอสเอฟ เป็นการเลี้ยงในพื้นที่ใหม่คลีนจริง บางส่วนที่มีทุนรอนก็สนับสนุนเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ทดแทนที่อายุการเลี้ยงสั้น เช่น ไก่ ที่ไม่เจอโรคเอเอสเอฟ หรือยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสุกรแบบฟาร์มปิดแทน

“เรื่องส่งออกสุกรมีชีวิตลืมไปได้เลย ปี 2565 ไทยจะไม่มีรายได้จากส่วนนี้แน่นอน หากเทียบเป็นมูลค่าความเสียหายในการหยุดส่งออกสุกรมีชีวิต 1 ล้านตัวต่อปี ส่งผลให้รายได้จากส่วนนี้หายไปกว่า 7 พันล้านบาท รัฐควรใช้บทเรียนนี้ป้องกันปัญหาเนื้อสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย ป้องกันล้อมคอกก่อนเกิดปัญหา ระบบเศรษฐกิจเสียหายน้อยกว่า วันนี้ไม่แค่ได้รับผลกระทบจากหมูแพง แต่ลามถึงห่วงโซ่ ทั้งหมูแปรรูป อาหารสำเร็จรูป แผนทำธุรกิจและส่งออก เป็นต้น”

จากเหตุการณ์หมูครั้งนี้ เป็นการสะท้อนหลายเรื่องที่หน่วยงานรัฐ รัฐบาล หรือภาคเอกชนเอง ดูเป็นบทเรียนเตือนใจ ..ปัญหาสินค้าแพงไม่ใช่จะโทษเรื่องดินฟ้าอากาศที่ควบคุมได้ยากเท่านั้น แต่ผู้กุมบังเหียนก็ต้องตามทันสถานการณ์ด้วย ซึ่งจากนี้ก็จะมีเกษตรอีกหลายชนิดออกสู่ตลาด ก็ไม่อยากเห็นความซ้ำซากของปัญหาของน้อยของเกิน จนกระทบของแพงของถูก จนเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ จะจบลงเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image