อินเดียบล็อกแอร์ที่มีสารทำความเย็นของไทย ก.อุตฯ ร้อง WTO ช่วย!

ก.อุตฯ เร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทย เหตุอินเดียห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น สั่ง สมอ. เตรียมขึ้นถกในเวทีโลก WTO เดือนมีนาคมนี้ พร้อมเรียกร้องให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎระเบียบเคมีภัณฑ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยอำนวยความสะดวกด้านมาตรการทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น ออกกฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ของไทย

“ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on Technical Barriers to Trade : TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) หยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อไป”นายสุริยะกล่าว

Advertisement

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ได้หารือถึงกรณีดังกล่าวว่าได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการจ้างโรงงานในประเทศอินเดียบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่เครื่องปรับอากาศที่ผลิตในประเทศอินเดียสามารถบรรจุสารทำความเย็นและจำหน่ายได้ทันที อีกทั้งยังออกประกาศใช้กฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี โดยให้เวลาในการเตรียมการเพียง 180 วันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ โดยภาคอุตสาหกรรมขอให้ขยายเวลาเป็น 360 วัน

นอกจากนี้ ยังระงับการมาตรวจประเมินโรงงานในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและเคมีภัณฑ์ต้องหยุดชะงัก มติการประชุมในครั้งนี้ จึงขอให้ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยใน Committee on TBT หยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุม Committee on TBT ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสตามพันธกรณีความตกลงที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

Advertisement

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ได้เจรจาทวิภาคีกับอินเดียเพื่อหารือร่วมกันในการลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าแล้ว แต่อินเดียยังไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องยกระดับการเจรจา โดย สมอ. จะหยิบยกประเด็นมาตรการดังกล่าวนี้ รวมทั้งข้อเสนอของประเทศไทยในการประชุม Committee on TBT ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยจะเรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น เนื่องจากขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และเป็นการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

รวมทั้งขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมคุณภาพเกี่ยวกับการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี จาก 180 วัน เป็น 360 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้อินเดียพิจารณาการตรวจประเมินโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (remote audit) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า

นอกจากประเด็นมาตรการของอินเดียแล้ว ยังมีประเด็นเสนอให้อินโดนีเซียพิจารณาการใช้กลไกความตกลง ASEAN Harmonized Electrical and Electronic Equipment Regulatory Regime (AHEEERR) ในการรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เพื่อไม่ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image