รับมือเงินเฟ้อ สู้ของแพง

รับมือเงินเฟ้อ สู้ของแพง

ยังไม่ผ่านเดือนแรกของปี 2565 ไปแบบดีๆ ปัญหาปากท้องของคนส่วนใหญ่เพิ่มความร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะปรากฏการณ์ แพงทั้งแผ่นดิน ที่เห็นสินค้าหลายอย่างปรับราคาขึ้นพรวดพราด ชนิดที่ว่าไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน ซึ่งสินค้าที่ปรับราคาขึ้นแรงๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เริ่มต้นด้วยผักสด ตามมาด้วยเนื้อสัตว์ และมีทีท่าว่าจะยังไม่สามารถปรับลดราคาลงได้ง่ายๆ

สถานการณ์สินค้าเดินหน้าขึ้นราคา เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เห็นราคาผักสดแพงเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะผักชี ที่ราคาตลาดเริ่มต้นตั้งแต่ 350-500 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นฉ่าย 300 บาทต่อกิโลกรัม กะหล่ำปลี 40-60 บาทต่อกิโลกรัม คะน้าต้น 52 บาทต่อกิโลกรัม กะหล่ำดอก 75-100 บาทต่อกิโลกรัม ผักกาดขาว 60 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงไข่ไก่ ที่ปรับราคาขึ้น 3 บาทต่อแผง ทำให้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 80-120 บาทต่อแผง (30 ฟอง) ลามมาถึงเนื้อหมู ที่ราคาพุ่งขึ้นแตะ 220-240 บาทต่อกิโลกรัม

ถือเป็นราคาที่สูงมากในยุดโควิด-19 ระบาด และผลกระทบทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง

ในช่วงปี 2564 การระบาดโควิด-19 ที่กลับมาเป็นระลอกๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มองว่าเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น เป็นการปรับตัวดีขึ้นแบบติดๆ ดับๆ จึงเห็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือเรียกง่ายๆ คือ การพิมพ์เงินเพิ่ม และป้อนเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านมือของประชาชน รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเยียวยาพลเมืองไปในตัว แต่เมื่อป้อนเงินใหม่เข้าระบบมากๆ ก็ทำให้เกิดอาการจำนวนเงินมากเกินไป ดันให้ราคาสินค้าและบริการปรับขึ้น ทั้งที่มูลค่าของเงินเท่าเดิม ความกังวลการเกิดภาวะเงินเฟ้อจึงทวีเพิ่ม

Advertisement

ความชัดเจนว่าสหรัฐกำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ยิ่งมีมากขึ้น เมื่อสหรัฐประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2564 ออกมาขยายตัวที่ 7.0% ต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2525 (ค.ศ.1982) ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก

สอดคล้องกับข้อมูลจากทูตพาณิชย์ที่พบว่าสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าครองชีพหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสหรัฐพบราคาสินค้าเดือนธันวาคม 2564 พุ่งสูงขึ้น 7% เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 นับว่าเพิ่มสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยใน 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้นเฉลี่ย 29.3% อาหารเพิ่มขึ้น 6.3% และสินค้าอื่น 5.5% ส่งผลต่อร้านอาหาร ธุรกิจบริการ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ โดยราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้รับแรงกดดันจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก เกิดความล่าช้าและติดขัดตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งปี 2.การขาดแคลนแรงงาน 3.การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง semiconductors 4.การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดค้าปลีก และ 5.สภาวะอากาศที่ผิดปกติในหลายพื้นที่

หลายคนอาจสงสัย แล้วภาวะเงินเฟ้อ น่ากลัวตรงไหน ขออธิบายเป็นภาพง่ายๆ คือ ข้าวของมีราคาแพงขึ้น แต่มูลค่าเงิน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน จะรู้สึกว่าเงินจากรายได้เท่าเดิม แต่ของที่ซื้อมากลับลดลง

Advertisement

หมายถึงว่า มูลค่าเงินลดลง เทียบง่ายๆ ว่า เมื่อก่อนจ่ายค่าข้าว 1 มื้อประมาณ 50 บาท แต่ปัจจุบันต้องจ่ายแพงขึ้นอีก

ต้องแบ่งให้ชัดเจนก่อนว่ามูลค่าและจำนวนเงินแตกต่างกัน เนื่องจากจำนวนเงิน เท่ากับเงินที่อยู่ในมือเรา แต่มูลค่าเงินคือ อำนาจในการซื้อสินค้าและบริการ หรืออำนาจในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เราไม่สามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงได้เอง

คำว่า เงินเฟ้อ สำคัญกับเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปอย่างไร อยากให้นึกภาพกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เราสามารถซื้อข้าวราดแกง 2 อย่างได้ในราคา 25 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาขึ้นเป็น 35 บาท

ประเมินทิศทางภาวะในปัจจุบันและภาพในอนาคต นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน เราเห็นราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งเป็นทั้งสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาสอดรับกัน โดยสินค้าต่างประเทศเป็นน้ำมัน ที่เข้ามาในราคาสูง บวกกับสินค้าในประเทศ เป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่อาจผลิตได้น้อยหรือเจอผลกระทบเฉพาะตัว ทำให้ราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู และสินค้าเกษตรตัวอื่น ซึ่งปกติแล้ว เมื่อสินค้าหรือบริการหากปรับขึ้นไปจะปรับราคาลดลงได้ยากมาก

ทำให้การปรับราคาขึ้นของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบบก้าวกระโดด เทียบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กลับคืนมา แม้จะบอกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ แต่เป็นการฟื้นตัวในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้สูงกว่า เป็นการฟื้นตัวในภาพรวมๆ มากกว่า แต่หากมองในด้านการฟื้นตัวแบบเฉพาะจุด โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ หรืออัตราการจ้างงาน ขณะนี้ก็ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาแบบก้าวกระโดดมากนัก ความกังวลใจของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น กับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องการใช้ชีวิตของคนฐานราก หรือกลุ่มคนเปราะบาง ที่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรมากกว่า เพราะเรายังไม่เห็นว่าชีวิตของกลุ่มคนจะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างไร หากข้าวของแพงขึ้น แต่เงินในมือมีเท่าเดิมหรือมีน้อยลง

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเตรียมรับมือและช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบางนั้น สามารถทำได้ 2 ทาง

1.การแก้ไขปัญหาที่ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ คือ การบริการจัดการสินค้าที่มีปัญหาอยู่ให้เหมาะสม อาทิ เนื้อหมูที่แพงขึ้น ก็ต้องหาทางบริหารจัดการให้ราคาลดลงก่อน โดยทำได้ทั้งการพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ หรือการช่วยอุดหนุนให้เกษตรกรเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าส่วนนี้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการได้

รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าในเบื้องต้น ผ่านการสมทบเงินอุดหนุน หรือกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ แต่ตรงนี้ไม่สามารถเข้าไปทำได้มากนัก เนื่องจากจะกระทบกับกลไกตลาดในภาพรวม และงบประมาณของภาครัฐด้วย

2.การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่การอัดฉีดเงินให้กับคนทั้งประเทศ เพราะงบประมาณที่มีอยู่ ไม่สามารถทำได้แน่นอน จึงต้องช่งยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก่อน อาทิ การเพิ่มเงินเข้าบัตรคนจน หรือการเพิ่มเงินเข้าโครงการคนละครึ่ง ให้สามารถซื้อเนื้อหมูได้

วิธีแก้เหล่านี้ สามารถทำได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ในระยะยาว ต้องหาทางดันค่าแรงให้เพิ่มขึ้นให้ได้ ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะต้องมีทักษะและความสามารถที่เหมาะสมกับค่าจ้างแรงงานดังกล่าว โดยภาครัฐจะต้องประเมินว่าแรงงานไทยในด้านใดที่เป็นที่ต้องการของตลาด และส่งเสริมให้ผลิตแรงงานเหล่านั้นป้อนเข้าอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ภาคผลิตที่มีความต้องการแรงงาน และยินดีที่จะจ่ายค่าจ้างในระดับสูงๆ ได้ โดยตอนนี้ยังไม่มั่นใจว่า ภาวะเงินเฟ้อ หรือราคาข้าวของแพงแบบนี้จะลากยาวมากเท่าใด แต่เมื่อสินค้าเพิ่มราคาขึ้นแล้ว จะปรับลดลงยาก ส่วนจะลากยาวทั้งปีหรือไม่นั้น เชื่อว่าคงไม่ได้เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการขึ้นไปสูงๆ แล้วไม่ลงมากกว่า นายนณริฏกล่าว

เรื่องเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image