เกษตรกร ค้านนำเข้าเนื้อหมู-ชิ้นส่วน-แปรรูปจากต่างประเทศ เสี่ยงโรค-อาชีพล่มสลาย
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเข้าเนื้อสุกรเพื่อเพิ่มปริมาณในประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศในแถบยุโรป ว่าสมาคมฯและเกษตรกรคัดค้านเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนเข้ามากระทบกับฝูงสุกรของไทยแล้ว ผู้เลี้ยงยังทราบดีว่าหากเปิดรับให้ทางยุโรปนำสุกรเข้ามาในไทยได้ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องเปิดรับเนื้อสุกรจากยุโรปตลอดไป และมีโอกาสที่จะส่งเข้ามาไม่จำกัด แม้จะมีการกำหนดปริมาณไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติประเทศผู้ส่งออกจะส่งมาเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังเช่น ประเทศเวียดนาม ที่เลือกแก้ปัญหาขาดแคลนสุกรด้วยการนำเข้า โดยหวังว่าจะได้บริโภคเนื้อสุกรราคาถูกในช่วงแรก แต่กลับได้บริโภคในราคาแพง และมีการแยกชนชั้นระหว่างสินค้านำเข้าและสินค้าในประเทศ ไม่ใช่สินค้าราคาถูกอย่างที่หวัง ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรชาวเวียดนนาม ต้องรับภาระขาดทุนจากภาวะสุกรล้นตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่สำคัญ การนำเข้าเนื้อสุกร ชิ้นส่วน และสุกรแปรรูปจากต่างประเทศ มาพยุงราคา เป็นการทำลายกลไกการเลี้ยงสุกรในประเทศ เพราะสุกรนำเข้าราคาถูกกว่าสุกรไทยมาก จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลของต่างประเทศให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง จึงสามารถขายสุกรในราคาถูกได้ ขณะที่ประเทศไทย คนเลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงเองทั้งหมด แต่กลับไม่สามารถขายสุกรในราคาที่สะท้อนต้นทุนได้ หากยอมให้สุกรนอกเข้ามา เกษตรกรไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ก็จะทิ้งอาชีพและเลิกเลี้ยงสุกรกันไปหมด ถึงวันนั้นความมั่นคงทางอาหารของประเทศต้องถูกทำลาย
“ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุด หากจำเป็นต้องนำเข้าเนื้อสุกร สมาคมฯ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้เท่านั้น เพื่อกำหนดจำนวนและชิ้นส่วนที่จะนำเข้ามา ไม่ให้กระทบกับผู้เลี้ยงในประเทศ รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียม (Surcharge) สำหรับนำไปช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว
อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ร่วมกันยืนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 110 บาท/กก. ไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน เพื่อลดภาระผู้บริโภค ส่วนทางแก้ที่เหมาะสมของเรื่องนี้คือ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากสุกรมีน้อย ราคาสูงขึ้น ก็จะกดดันให้ความต้องการบริโภคลดลง ตามกลไกตลาด ในที่สุดปริมาณและการบริโภคจะกลับสู่สมดุลเอง โดยที่ไม่ต้องมาควบคุมให้เสียเวลา../