โบรกชี้ทิศทางฟันด์โฟลว์ไตรมาส 1/65 ชะลอตัวลง หลัง 18 วันแรก ซื้อสุทธิกว่า 9.5 พันลบ.

โบรกชี้ทิศทางฟันด์โฟลว์ไตรมาส 1/65 ชะลอตัวลง หลัง 18 วันแรก ซื้อสุทธิกว่า 9.5 พันลบ.

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ไตรมาส 1/2565 ทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เริ่มเห็นการไหลเข้ามาในหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่วันที่ 1-18 มกราคม 2565 มูลค่าการซื้อขายสะสมของนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิแล้วกว่า 9,541.58 ล้านบาท แต่ในระยะสั้นหลังจากนี้ มองว่าฟันด์โฟลว์อาจชะลอตัวได้บ้าง เนื่องจากผลกระทบของการลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) มีมากขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ซึ่งในประเทศไทย คาดว่าจะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ย ทำให้ในช่วงต้นปี 2565 ความหวังเม็ดเงินฟันด์โฟลว์อาจยังไม่ได้ให้ไว้มากนัก รวมถึงมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ของตลาดหุ้นไทยก็อยู่ค่อนข้างสูง ขณะที่คนส่วนใหญ่มองประเทศไทยเป็นประเทศของการท่องเที่ยว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า แรงกดดันของภาคการท่องเที่ยวไทย ที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ต้องรอประเมินภาพในช่วงถัดไป หากการท่องเที่ยวปลดล็อกได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถเข้ามาเที่ยวไทยได้แบบปกติมากขึ้น ทำให้รายได้ท่องเที่ยวฟื้นตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาได้มากขึ้น ส่วนนี้จะเป็นแรงสนับสนุนการไหลเข้าของเม็ดเงินฟันด์โฟลว์มากขึ้น โดยในปี 2565 ให้เป้าหมายดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,750 จุด

“ในทางกลับกัน การไหลออกของฟันด์โฟลว์จากตลาดหุ้นไทย คาดว่าคงไม่ได้เห็นมากนักเหมือนกัน เนื่องจากในช่วง 3-5 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยยังไม่ได้เห็นเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาเลย แม้มีการใช้มาตรการคิวอีของสหรัฐก็ตาม ทำให้คาดว่าแรงกระทบในการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติ จึงไม่ได้มากมายนัก ภาพคงเป็นระดับกลางๆ มากกว่า” นายวิจิตร กล่าว

นายวิจิตร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 1/2565 ยังมองเป็นภาพของการผันผวนออกข้าง (ไซด์เวย์) และการปรับขึ้นได้บ้าง เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจที่แม้ฟื้นตัวได้ไม่เร็วเท่าที่ควร แต่ก็เป็นสัญญาณที่ทยอยดีขึ้นเรื่อยๆ และโมเมนตัมของภาวะต่างๆ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการลงทุนมากนัก ซึ่งมองว่าใกล้เข้าสู่ภาวะที่หลุดจากช่วงวิกฤตได้มากขึ้น โดยในไตรมาส 1/2565 เชื่อว่าสัญญาณฟันเฟืองหลายตัวที่ยังไม่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา จะฟื้นตัวได้มากขึ้น อาทิ การบริโภค ที่เห็นแรงกระตุ้นของภาครัฐผ่านมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ต่างๆ ที่ออกมาช่วงสิ้นปี 2564 ซึ่งจะดันความเชื่อมั่นให้ฟื้นตัวได้มากขึ้น รวมถึงการส่งออก ที่คาดว่าปี 2565 จะโตได้อีก 5% จากฐานสูงในปี 2564 ที่โตกว่า 15% จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อะไรที่ยังไม่ดีก็จะทยอยดีขึ้น ส่วนอะไรที่ดีอยู่แล้วก็จะทยอยดีขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image