‘ศักดิ์สยาม’ เดินหน้าลุย 4 มิติ หวังดันโครงการลงทุน สร้างผลประโยชน์ทาง ศก.กว่า 4 แสนล้าน/ปี

‘ศักดิ์สยาม’ เดินหน้าลุย 4 มิติ หวังดันโครงการลงทุน สร้างผลประโยชน์ทาง ศก.กว่า 4 แสนล้าน/ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงานสัมมนา Thailand Future Smart and Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม ว่า กระทรวงคมนาคมถือเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะงักการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศแต่อย่างใด โดยได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกันทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย

“นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์จากแผนลงทุนด้านคมนาคมแล้ว ในส่วนภาพรวมของประเทศ จะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งในปี 2565 ไทยจะมีโครงการลงทุนทั้ง 4 มิติ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ด้วยวงเงินการลงทุนที่สูงนี้ มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิด การจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่างๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยแบบทวีคูณ ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงได้เตรียมแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมจะเดินหน้าโครงการในครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ 1.การศึกษาจัดทำแผนแม่บทเอ็มอาร์ แมป เป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยทั้ง 10 เส้นทางทั่วประเทศ จะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้าการลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และ 2.โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนโครงการ และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573

Advertisement

“ในแต่ละโครงการผมกับบุคลากรทุกคนในกระทรวง ได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานเป็นแอ๊กชั่นแพลนไว้แล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แผนในการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนโครงสร้าง เพื่อวางโครงข่ายคมนาคมของประเทศทั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคมได้วางไว้เป็นแผนกลยุทธ์ 20 ปี และเมื่อนำมาต่อเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากทั้งหมดเกิดขึ้นได้ครบวงจร เราจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายศักดิ์สยามกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image