คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ‘เงินเฟ้อ’มาตามคาด

คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ‘เงินเฟ้อ’มาตามคาด

คอลัมน์คิดเห็นแชร์ : ‘เงินเฟ้อ’มาตามคาด

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอเขียนถึงเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในขณะนี้ ซึ่งผมเคยเขียนถึงเรื่องโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อในปี 2565 ในบทความ “คิด เห็น แชร์” เมื่อเดือน พ.ย.2564

นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 2.5% แต่เราจะเห็นการปรับขึ้นในอัตราเร่งโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า +3.0% และคาดอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูง +/-3.0% ต่อเนื่องในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ ได้แก่

1.ต้นทุนการผลิตและขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจนทำจุดสูงสุดใหม่ ล่าสุด ราคาสูงเกินกว่า 80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา (สำหรับประเด็นราคาน้ำมันดิบ แนะนำติดตามบทวิเคราะห์ Commodities update ของทางฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ ทุกวันอังคาร) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นได้ส่งผล
กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นต้นทุนการผลิตหลัก (เช่น ปุ๋ยเคมี การขนส่ง เป็นต้น) และยังเป็นผลจากการเป็นสินค้าทดแทนกันของพืชพลังงานหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้/มันสำปะหลัง อ้อย สามารถนำมาผลิตเป็น เอทานอลผสมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้ เป็นต้น

Advertisement

นอกจากประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในเกือบทุกขั้นตอนแล้ว ประเด็นเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ปรับขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ที่ปรับขึ้นมาแล้วกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าเช่นกัน

2.เงินเฟ้อหมวดสินค้าอาหาร ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ที่ปรับขึ้นจากอุปทานเนื้อสุกรที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา และผมประเมินแม้ภาครัฐจะเร่งสนับสนุนการเลี้ยงสุกรใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่เนื่องจากการเลี้ยงสุกรขุนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลายาวนานราว 6-8 เดือน นอกจากนี้ ผลกระทบจากต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับขึ้น ทั้งราคาลูกสุกร ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้น จะส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเงินทุนไม่มากพอ ไม่สามารถที่จะเร่งการเลี้ยงสุกรขุนได้ ดังนั้น ผมเชื่อว่าอุปทานเนื้อสุกรมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักในปีนี้ และราคาเนื้อสุกรจะยังทรงตัวสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เนื้อสัตว์อื่นที่เป็นสินค้าทดแทนกัน อาทิ เนื้อไก่ ก็มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับสูงขึ้นเช่นกัน เพราะต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นและความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อสุกร อย่างไรก็ดี ล่าสุดภาครัฐกำหนดให้เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่) เป็นสินค้าควบคุมอาจจะช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากหากว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐควบคุมเพดานราคาสินค้า จะทำให้เกษตรกรลดการเลี้ยงสัตว์ลงเพราะอัตรากำไรเริ่มลดต่ำลง ท้ายที่สุดปริมาณอุปทานเนื้อสัตว์ในตลาดจะตึงตัวต่อเนื่อง

ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ประกอบกับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจต่ำกว่าสมมติฐานที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ผมประเมินว่ามีโอกาสสูงที่นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักต่างๆ จะทำการปรับลดประมาณการ GDP ปี 2565 ลง

Advertisement

สำหรับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แม้ผลกระทบด้านลบจากปัจจัยเรื่องของเงินเฟ้อจะกระทบต่อการบริโภคในประเทศ แต่ผมประเมินว่าหลังจากนี้หากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวยังเดินหน้าตามแผนไปได้ดี จะยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาได้ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้หากพิจารณาที่ผมเขียนไว้ข้างต้นจะเห็นว่าเป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น มากกว่าผลจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น ผมประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ทำการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ดังนั้น หากตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก (คาดเป็นการประชุมเดือน มี.ค.2565)

ผมยังประเมินว่าเป็นโอกาสในการเข้าทยอยซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวในปีนี้ เช่น หุ้นกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มท่องเที่ยว เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image