จับตา‘ภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย’ ใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ…วิ่งให้ทันโลก!!

จับตา‘ภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย’ ใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ...วิ่งให้ทันโลก!!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ภาครัฐสามารถโอนเงินเข้าประชาชนโดยตรงได้อย่างรวดเร็ว ผ่านระบบพร้อมเพย์ ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จากเก่าก่อนต้องจ่ายผ่านเช็คเท่านั้น ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้มาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยกระดับศักยภาพภาคการเงินอย่างไรก็ดี ในอนาคตยังมีเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาได้อยู่ตลอดเวลา เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐและภาคเอกชนจะเดินร่วมกันไปในทิศทางใด

⦁รัฐบาลมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุกับ “มติชน” ว่า ประเทศไทยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อย่างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำไว้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ระบบเทคโนโลยีกลางน้ำ อาทิ คลาวด์เซอร์วิส เอไอคอมพิวติ้ง แพลตฟอร์มต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องมีระบบมารองรับกระบวนการทำงานให้ระบบธุรกิจเชื่อมโยงกับโครงข่ายพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ต้องหาคนมาลงทุน เพราะไม่ใช่การลงทุนน้อยๆ ต้องลงทุนแบบไฮเปอร์สเกล ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพและชำนาญสูง ต้องดึงดูดการลงทุน ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดึงบริษัทใหญ่ระดับสากลเข้ามา ใกล้ได้ข้อสรุปในปีนี้

รองนายกฯ ยังชี้ว่า ส่วนนี้จะเป็นการช่วยเติมเต็มให้อุตสาหกรรมด้านนี้เกิดขึ้นได้ และพอธุรกรรมด้านดิจิทัล เซอร์วิสไปได้ดี เกิดผลปลายทางมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจได้สะดวก รวดเร็ว มีเครือข่าย 5 จีและมีฐานเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของคนไทยเอง ลดปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยของข้อมูล ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

⦁แบงก์ชาติพร้อมวางภูมิทัศน์การเงินแห่งอนาคต
ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในโจทย์ท้าทายระบบการเงินไทยคือเรื่องดิจิทัล ซึ่ง ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย หรือ Financial Landscape Consultation Paper วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ 1 เดือน เพื่อวางรากฐานภูมิทัศน์ระบบการเงินไทยสู่เสถียรภาพความยั่งยืน

Advertisement

โดย ธปท.ได้ผลักดันแนวคิดเรื่องนี้ 3 แนวทาง หรือ 3 Open ได้แก่ 1.Open Competition สร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเดิม เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ จะออกเกณฑ์การกำกับให้เท่าเทียม

2.Open Data การผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ให้ถูกใช้เป็นประโยชน์ได้ในวงกว้าง พัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน หรือ API Standard ประชาชนจะเรียกข้อมูลบันทึกการทำธุรกรรมจากสถาบันการเงินหนึ่ง เพื่อใช้ขอสินเชื่อกับอีกสถาบันการเงินหนึ่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ ช่วยลดภาระการเดินทางและระยะเวลาในการดำเนินการขอและรับส่งข้อมูล ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินจะลดต้นทุนการตรวจสอบและประมวลผลด้านเอกสาร รวมถึงลดความเสี่ยงที่เอกสารอาจถูกปลอมแปลง

Advertisement

3.Open Infrastructure เปิดกว้างให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมต่อผู้ให้บริการที่หลากหลายได้เห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการทำโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ทำระบบให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นดิจิทัล อาทิ ใบแจ้งหนี้ และระบบภาษี ทำให้ธุรกิจมี digital footprint ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลธุรกรรมการค้าและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ต่อมา คือ โครงการขยายวงของบริการชำระเงินข้ามประเทศ ชำระ/รับค่าสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด ข้ามประเทศได้ ปี 2564 สามารถเชื่อมโยงระบบพร้อมเพย์ของประเทศไทยและระบบเพย์นาวของประเทศสิงคโปร์ ถือว่าเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีคู่แรกของโลก และการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่อยู่ระหว่างทดสอบเทคโนโลยี และจะมีการทดสอบกับประชาชนภายในปีนี้ ทั้งนี้ องค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐาน มีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งเป็นการวางรากฐาน หรือสร้างถนน ให้ภาคเอกชนมาต่อยอดนวัตกรรม

ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุด้วยว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับการชำระเงิน เนื่องจากไม่เหมาะสมเพราะมีความผันผวนสูงสร้างความเสี่ยง และประเด็นเสถียรภาพ อาทิ โอกาสจะถูกแฮก หรือทำให้ระบบการชำระเงินขาดการบูรณาการ ขาดเอกภาพ ดังนั้นเรื่องการชำระเงินควรจะอยู่ในรูปของสกุลเงินบาท แต่เรื่องการลงทุนนั้นมีหน่วยงานกำกับอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลอยู่แล้ว ส่วนในฝั่งธนาคารพาณิชย์มองว่าการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ถือครอง ส่วนบริษัทลูกต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี ยกเว้นบริษัทลูกมีหน่วยงานกำกับอื่นๆ ดูแล

“อยากเห็นการปรับตัวของสถาบันการเงินที่ยืดหยุ่น บาลานซ์ระหว่างการมีนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงธปท.ในฐานะผู้กำกับพยายามยืดหยุ่นและควบคุมไม่ให้หลุด โดยเฉพาะเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง ธปท.ต้องป้องกันไว้ แต่ไม่แคบจนเกินไป” ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุ

⦁ความกลัวของรัฐอุปสรรคการเปลี่ยนแปลง
ด้าน “ท็อป Bitkub” หรือ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ แสดงความเห็นว่า ระบบการเงินในอนาคต คือ แพลตฟอร์มทางการเงิน (Financial platform) เมื่อรู้ว่า เมทาเวิร์ส กำลังจะมา บิทคับได้เปิดตลาดที่เรียกว่า เอ็นเอฟที มาร์เก็ต จะทำให้วงการบันเทิงทั่วโลก วงการโฆษณา และวงการเกม ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ให้เวลาไม่เกิน 5 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เล่นเกมแล้วได้เงิน ดูโฆษณาแล้วได้เงิน

ประธานบิทคับฯ ยังส่งสารถึงภาครัฐว่า หน่วยงานกำกับควรตามเทคโนโลยีให้ทัน ส่วนใหญ่ยังกลัวสิ่งใหม่ เป็นปกติของมนุษย์ มนุษย์ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบสิ่งใหม่ แต่หน่วยงานกำกับต้องเข้าใจการพัฒนาประเทศ ต้องเดินไปข้างหน้า อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ สิ่งที่ตายแล้วประเทศก็เช่นเดียวกัน บริษัทก็เช่นเดียวกัน การทดลองสิ่งต่างๆ มีทั้งสำเร็จ ล้มเหลว เป็นเรื่องปกติ บ้านเรายังกลัวการล้มเหลว อันนี้ควรจะเปลี่ยนมายด์เซตใหม่

“เชื่อว่าเมื่อประเทศไทยมีแพลตฟอร์มทางการเงินของคนไทย 100% จะมีอำนาจการต่อรองที่ไม่ปล่อยให้เม็ดเงินไหลไปอยู่ในมือต่างชาติ แต่จะมีเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศทุกปีและขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศในรูปแบบ นิว อีโคโนมีที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก” จิรายุสทิ้งประโยคได้น่าสนใจ

ศักยภาพระบบการเงินประเทศไทยหลังจากนี้ ต้องจับตาอย่างยิ่งว่าจะขึ้นแท่นเป็นผู้นำของโลกได้หรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image