รถอีวี…กระทบชิ้นส่วนรถยนต์ 2,500 บริษัท ไม่ปรับตัวเสี่ยงเจ๊ง 700-800 บริษัท

กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ส.อ.ท. ชง4แผนช่วยชิ้นส่วนรถยนต์2,500บริษัทรับอีวี ไม่ช่วยเสี่ยงเจ๊ง700-800บริษัท

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มฯได้เตรียมแผนการปรับตัวให้กับผู้ผลิตชินส่วนและอะไหล่ยานยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีประมาณ 2,500 ราย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์จากปัจจุบันเครื่องยนต์สันดาปภายใน(ไออีซี)ไปสู่ยานยนต์ไฟฟา(อีวี) โดยมี 4 แนวทางสำคัญได้แก่ 1.การปรับธุรกิจไปสู่ตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ตหรือรูปแบบสินค้าทดแทนโดยเฉพาะอุปกรณ์ตกแต่งรถที่ทั่วโลกยังมีความต้องการมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบการเข้ามาของอีวี 2.ปรับเปลี่ยนการผลิตชิ้นส่วนฯ เพื่อรองรับอีวี ที่ความต้องการในเมืองไทยจะมีปริมาณมากขึ้นตามความต้องการใช้ที่จะสูงจากมาตรการกระตุ้นของรัฐ 3. การพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนฯเพื่อรองรบอุตสาหกรรม 4.0 อาทิ แขนกล อุปกรณ์อัตโนมัติ ที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องก้าวไปสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น และ 4. การปรับไปสู่ธุรกิจอื่นๆ แทน เพราะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจเดิมได้

“ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนฯส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต หรือ โออีเอ็ม การมาของอีวีจึงกระทบ ดังนั้นกลุ่มฯต้องผลักดันสมาชิกให้ปรับตัว โดยจะมีการเสนอของบวิจัยและพัฒนาในระยะต่อไปเพื่อวิเคราะห์ลงลึกมากขึ้น โดยผมจะส่งเรื่องนี้ให้กับประธานส.อ.ท.คนใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่แนวทางช่วยเหลือต่อไป”นายพินัยกล่าว

การเข้ามาของอีวี แม้ว่ารัฐบาลไทยจะกำหนดให้ผู้ผลิตต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศทั้งหมด แต่เชื่อว่าการผลิตชิ้นส่วนต้องหายไปค่อนข้างมาก เพราะเครื่องยนต์สันดาปมีชิ้นส่วน 2-3 หมื่นชิ้น แต่อีวีจะเหลือชิ้นส่วนไม่มาก คาดว่าจะกระทบผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนฯต้องหายไปอย่างต่ำ700-800 ราย จาก 2,500 ราย เบื้องต้นจึงต้องดำเนินการศึกษาเพื่อเร่งช่วยเหลือ ให้ได้รับผลกระทบน้อยสุดเท่าที่จะทำได้

Advertisement

นอกจากนี้ต้องติดตามว่าการมาของอีวีจะเป็นการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันผู้เล่นหลักคือ ญี่ปุ่น แต่แนวโน้มรถอีวีตอนนี้คือจีน ซึ่งจีนมีผู้ผลิตชิ้นส่วนฯเอง จึงต้องดูว่าท้ายสุดนโยบายรัฐในการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนอีวีสำเร็จแค่ไหน อย่างไรก็ตามการที่รัฐเตรียมออกแพคเกจเพื่อส่งเสริมการใช้อีวี มีความเห็นว่า ภาครัฐควรปล่อยให้เป็นตามกลไกการตลาดมากกว่าเพราะหากเร่งให้เร็วเกินไปอาจกระทบต่อภาพรวมได้

“มองว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของไทยยังไม่ได้รองรับอีวีมากนัก หากต้องการผลักดันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วจะลดได้แค่รถยนต์ แต่กลับไปเพิ่มการใช้ไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิลเพิ่ม ดังนั้นรัฐต้องมองให้ครบวงจร รัฐควรมุ่งส่งเสริมการใช้รถบัส รถขนาดใหญ่ ระบบขนส่งสาธารณะก่อน ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม ก่อนมุ่งกระตุ้นรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะต้องใช้เงินรัฐในการสนับสนุนให้ลดราคาลงมา “นายพินัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image