3 องค์กรอุตสาหกรรมอาหารเผยปี’64 ไทยส่งออกขยายตัวสูง 11.8% ชี้แป้งมันสำปะหลัง-ผลไม้ฮอต

3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร เผยปี’64 ส่งออกขยายตัวสูง 11.8% มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท คาดปี’65 โตต่อเนื่อง คาดทำนิวไฮ มูลค่า 1.2 ล้านล้าน ขยายตัว 8.4%

เมื่อวันที่ 24 มกราคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สภาวะอาหารไทยในปี 2564 มีจำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้น 1.36 แสนราย คิดเป็น 4.3% ของกิจการทั่วประเทศ มีรายได้ 9.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ส่วนการจ้างงาน 9.73 แสนคน คิดเป็น 7.6% ของการจ้างงานรวมทั่วประเทศ

นางอนงค์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 มีมูลค่า 1,107,450 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก 34,890 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.5% โดยการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลโควิด-19 คลายตัวลง ประเทศคู่ค้าผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าส่งออกที่มีตลาดในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารและโรงแรมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก

นางอนงค์กล่าวว่า ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.30% จาก 2.32% ในปี 2563 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สหรัฐ แอฟริกา โอเชียเนีย และสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.0% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก อันดับที่ 2 คือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือกลุ่ม CLMV สัดส่วนส่งออก 12.4% และอันดับที่ 3 ญี่ปุ่น มีสัดส่วนส่งออก 11.5% โดยการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 219.7% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและแอฟริกาลดลงจากสินค้าทูน่ากระป๋องและข้าวเป็นสำคัญ

นางอนงค์กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารมีมูลค่าส่งออก 506,970 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.5% หรือมีสัดส่วน 45.8% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วน 40.8% ในปีก่อน ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 600,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% หรือมีสัดส่วนส่งออก 54.2% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม จากสัดส่วน 59.2% ในปีก่อน ทั้งนี้กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง ผลิตภัณฑ์มะพร้าว เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน และสับปะรด ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจบริการร้านอาหาร หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง และน้ำตาลทราย

Advertisement

“แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ หรือนิวไฮ ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1.ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากขึ้น ความอันตรายของโรคลดต่ำลง

“2.ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 เริ่มลดลง ประเทศต่างๆ มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น และ 3.เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว” นางอนงค์กล่าว

นางอนงค์กล่าวว่า คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ 1.ราคาวัตถุดิบภาคเกษตร บรรจุภัณฑ์ น้ำมัน เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง 2.การขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการเพิ่มผลผลิตและรับคำสั่งซื้อ และ 3.กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางและระดับล่าง อ่อนตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ปัจจัยด้านเงินเฟ้อ

Advertisement

นางอนงค์กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าส่งออกหลัก 10 กลุ่มสินค้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยที่ 1.กลุ่มขยายตัวสูง ที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัว มากกว่า 10% ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว ขยายตัวดีจากเงินบาทอ่อนค่า และคาดว่าราคาส่งออกข้าวในปี 2565 จะทรงตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ปลาทูน่ากระป๋อง ได้รับแรงหนุนจากเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง อาหารบรรจุกระป๋องจะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนน้ำตาล จะเริ่มฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลุ่มประเทศ CLMV และ กุ้งสับปะรด ได้รับปัจจัยหนุนจากการพื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว บริการร้านอาหาร และโรมแรม

นางอนงค์กล่าวว่า 2.กลุ่มขยายตัวปานกลาง มูลค่าส่งออกขยายตัว มากกว่า 5% แต่ไม่ถึง 10% ประกอบด้วย 4 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง มะพร้าว เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่โดดเด่นและมีศักยภาพของไทย แนวโน้มการเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และ 3.กลุ่มขยายตัวต่ำ มีมูลค่าส่งออกขยายตัว น้อยกว่า 5% คือการส่งออกไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกไก่ 50% ของไทย ที่ยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารฟื้นตัวช้า กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทย

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาสินค้าเกษตร เงินเฟ้อ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ปัจจุบัน ส่งผลให้ต่อต้นทุนแฝงธุรกิจอาหาร การตรวจพนักงาน สวัสดิการแรงงานในโรงงานล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ต้องยอมรับว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แม้ว่าจะเกิดการระบาดของโรค ความต้องการอาหารกลับยังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องราคาสินค้า ค่าครองชีพประชาชน ค่าระวางเรือ เเละดูศักยภาพแปรรูปแต่วัตถุดิบที่ไม่เพียงพอเช่นทูน่า รัฐบาลควรแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมแปรรูปให้นำเข้าวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้จะยังเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ไทยแม้ในฐานะครัวของโลกยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระทบการขนส่งสินค้าในท่าเรือ

“โดยเฉพาะการคุมเข้มเรื่องโควิดของคู่ค้าอย่างจีนที่ประกาศใช้มาตรการซีโร่โควิด กำหนดให้ตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ 100% จะมีผลในอีกในช่วงผลไม้ฤดูที่จะถึง อีกทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้นนั้นภาครัฐควรเดินหน้านโยบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งขยายการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งตลาดหลักที่ผ่านมา ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) และไม่มีกรอบเอฟทีเอมาช่วย ทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันไทยเสียตลาดสินค้าหลายประเภท เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราจะอยู่ในคอมฟอร์ตโซนต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องมองสินค้ามูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นเช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารอนาคต” นายวิศิษฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image