‘คลัง’ เล็งใช้มาตรการ ‘ลดภาษีน้ำมัน’ ทางเลือกสุดท้าย ชี้กองทุนยังมีสภาพคล่อง

‘อาคม’ ขอใช้มาตรการ ‘ลดภาษีน้ำมัน’ เป็นทางเลือกสุดท้าย ชี้กองทุนยังมีสภาพคล่อง อดีตรัฐบาลลดภาษีเมื่อราคาน้ำมันดิบโลก พุ่ง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการดูแลราคาน้ำมันว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะ ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันให้อยู่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแลในการรักษาเสถียรภาพของน้ำมัน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันชื้อเพลิงไปแล้ว

“บทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรของราคาน้ำมัน ส่วนมาตรการทางภาษีนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งต้องดูหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงจน กองทุนน้ำมันไม่สามารถรับภาระตรึงราคาไว้ได้ รัฐบาลจึงจะเลือกใช้มาตรการลดภาษี” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรเข้าไปอุดหนุนเกินความจำเป็น เพราะในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ต้องการเม็ดเงินจากภาษี ซึ่งภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็เป็นส่วนหนึ่งของรายได้หลัก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันด้วยว่าจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการดูแลแค่เรื่องราคาน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมีพลังงานชนิดอื่นๆ ด้วย อาทิ แก๊สหุงต้ม ซึ่งได้ขอความร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ในการช่วยตรึงราคาแล้ว

นายอาคมกล่าวด้วยว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลมีมาตรการลดภาษีน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ในระดับราคา 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นสูงเกินไปหลายประเทศก็เดือนร้อนเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา ก็จะนำสต๊อกน้ำมันออกมา เพื่อดึงราคามันโลกลงมาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูหลายปัจจัย เพื่อเลือกใช้มาตรการใด ส่วนที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มาจากปัญหาทางเทคนิค ทำให้การผลิตน้ำมันในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางผลิตได้ปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้ ราคาจึงสูงขึ้น แต่ในขณะนี้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประกอบกับพ้นจากช่วงฤดูหนาว จะทำให้ผลิตน้ำมันดิบได้มากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะมีแนวโน้มลดลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image