‘ปศุสัตว์’ สรุปผลร่วม ‘ปคบ.’ ลุยตรวจห้องเย็นสมุทรสาคร-นครปฐม พบมีผิดจับส่งดำเนินคดี

‘ปศุสัตว์’ สรุปผลร่วม ‘ปคบ.’ ลุยตรวจห้องเย็นสมุทรสาคร-นครปฐม พบมีผิดจับส่งดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานในพื้นที่เครือข่ายกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) จึงได้สนธิกำลังเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อกันการกักตุนซากสุกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 21-24 มกราคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ดังนี้

จากการตรวจสอบห้องเย็น 10 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 21 มกราคม 2565 นั้น พบการจัดเก็บเนื้อสุกรแช่เย็นที่ไม่มีเอกสารใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายในห้องเย็นจำนวน 3 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 402,938 กิโลกรัม จากบริษัทนำของมาฝากทั้งหมด 4 ราย ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่นำของมาฝาก โดยผู้ประกอบการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 22 โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากการตรวจสอบเอกสารที่ผู้ประกอบการได้นำมาชี้แจงแล้ว ได้ทำการถอนอายัดบางส่วนและอายัดเพิ่มเติมเนื่องจากนำเอกสารมาแสดงได้บางส่วน และได้ดำเนินคดีกรณีที่ทำการเคลื่อนย้ายเนื้อสุกรเนื้อสุกรแช่เย็น นำมาจัดเก็บห้องเย็นภายนอกโดยไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายเป็นเนื้อสุกร โดยในวันที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 22.30 น. พนักงานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท ได้รวบเอกสารหลักฐานและบันทึกถ้อยคำของผู้กระทำความผิดทั้งหมด มอบให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสาคร นำไปดำเนินคดีตามกฎหมายที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาครแล้ว

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

สำหรับการตรวจสอบห้องเย็นจำนวน 2 แห่ง ในจังหวัดนครปฐม วันที่ 22 มกราคม 2565 นั้น พบการจัดเก็บเนื้อสุกรแช่เย็นที่ไม่มีเอกสารใบอนุญาตในการเคลื่อนย้าย และไม่ได้แจ้งต่อกรมการค้าภายใน จำนวนทั้งสิ้น 66,984.34 กิโลกรัม ได้ทำการอายัดทั้งหมด 66,984.34 กิโลกรัม โดยอยู่ระหว่างรอบริษัทที่นำของมาฝากนำเอกสารหลักฐานมาแสดงเพื่อตรวจสอบ ซึ่งหากไม่สามารถแสดงได้จะดำเนินการตามกฎหมายมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 22 โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image