คลังเตรียมสรุปภาษีคริปโทเดือนนี้ ยันสนับสนุน แต่ต้องไม่กระทบระบบการเงินปัจจุบัน

“อาคม” ย้ำสรรพากรสรุปแนวทางภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล สิ้น ม.ค.นี้แน่ คลังพร้อมหนุนสินทรัพย์ดิจิทัล ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโต แต่ต้องไม่กระทบระบบการเงินในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สินทรัพย์ดิจิทัล ตามด้วยพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในปี 2561 รวมทั้งมีประมวลรัษฎากร ลดหย่อนในปี 2561 ทั้งนี้ ทางรัฐบาลและกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของ เทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือฟินเทค และพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือธุรกรรม และผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความท้าทายในเรื่องการกำกับดูแล เพื่อดูแลในเรื่องแนวทางในการปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในธุรกิจด้านนี้ และอีกด้านคือ จะต้องดูแลผู้บริโภคด้วย

นายอาคมกล่าวว่า ซึ่งในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล ในหลายประเทศก็ต่างมีแนวทางของตนเอง แต่ที่ชัดเจนคือ การกำกับดูแล และก็มีความครอบคลุมที่มากขึ้น ในกรณีของไทย ก็ไม่ได้นิ่งแน่ใจ ในกฎหมายปี 2561 ก็ได้กำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีบทบาทในการกำกับดูแล ซึ่งกระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต.ก็ได้มีการติดตา ดูแลและหารือร่วมกันถึงแนวนโยบายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ตลอด เพื่อรองรับธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจ และที่สำคัญ คือการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยจะยึดแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับประเด็นในเรื่องการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ที่จริงแล้วไม่ได้เพิ่งเริ่มเก็บในปี 2565 นี้ แต่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการกำหนดให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลมาโดยตลอด เพียงว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาอาจจะมีไม่มาก แต่เพิ่งจะเป็นที่นิยมในปี 2564 เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนในระบบดิจิทัล ที่ปัจจุบันมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

Advertisement

ที่ผ่านมาตามกฎหมายก็ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่ามีภาระภาษี และมีการจัดเก็บมาตลอด เพียงแต่ในปี 2564 นั้น อาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ยังคงไม่ทั่วถึง เลยทำให้มีการเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่าเป็นภาษีตัวใหม่ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ตัวใหม่แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ก็ได้มีการหารือมาตลอด ในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อ 25 มกราคม 2565 ก็ได้มีการหารือ กับภาคเอกชน ซึ่งก็มีข้อเสนอแนะดีๆ โดยส่วนใหญ่ก็ อยากจะให้ให้เป็นการส่งเสริม ซึ่งนำไปสู่แนวทางในการ คำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย และสร้างความเป็นธรรม โดยไม่สร้างความยุ่งยากและไม่ภาระกับประชาชนและผู้มีเงินได้ โดยแนวนโยบายด้านภาษีก็มี 2 แนวทาง คือ การส่งเสริม คือ ทำให้เกิดอุตสาหกรรม ผ่านการลดหย่อน การยกเว้นภาษี โดยจะมีช่วงเวลาที่จำกัด ส่วนอีกด้านคือ ภาษีที่ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่น ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ยืนยันแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในระหว่างการหารือ และก็จะได้ข้อสรุปภายใน สิ้นเดือนมกราคม 2565 นี้ โดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับการ นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ยกระดับการสร้างเศรษฐกิจ โดยต้องไม่กระทบระบบการเงินในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาก็ได้มีการติดตามการเติบโตของการลงทุนและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต และรากฐานของเทคโนโลยีที่สำคัญในการทำธุรกรรม ที่ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูงในอนาคต ดังนั้นแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุน สินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก็จะนำแนวทางของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ ให้เข้ากับบริบทของไทย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม การพิจารณาการจัดเก็บภาษีของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ยังคงยึดแนวทางของการเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับนักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ถือครอง หรือได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างเร่งขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากนวัตกรรมทางการเงิน ให้กับประเทศ และส่งผ่านจากธุรกิจ ไปสู่การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ” นายอาคมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image