ดีเดย์ 1 กุมภาฯ นำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู กลุ่มแรก 226 คน

ดีเดย์ 1 กุมภาฯ นำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู กลุ่มแรก 226 คน

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานรับข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด -19 และความต้องการแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 โดยมีนายจ้างที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าว และมีความพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่กักตัวมาดำเนินการแล้ว

“ล่าสุดมีการยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) โดยนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติกัมพูชา เพื่อทำงานในสถานประกอบการภายในจ.ชลบุรี จำนวน 220 คน และ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 6 คน รวม 226 คน โดยทั้งหมดจะทยอยเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจ.สระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และกักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ณ อาคาร อินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด โดยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ ในส่วนแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาและลาวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของประเทศต้นทาง ซึ่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยตามขั้นตอนแล้ว ทางการไทยจะอนุญาตให้นำเข้าแรงงานตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัวเช่นเดียวกับกรณีแรงงานกัมพูชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับสถานที่กักตัวในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด ตั้งอยู่ที่ 555/554 หมู่ที่ 7 ตำบล ป่าไร่ อำเภอ อรัญประเทศ จังหวัด สระแก้ว มีจำนวนห้องพัก 200 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 500 เตียง มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 8,500 บาทต่อคน มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ ในส่วนคนต่างด้าวหากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดหาวัคซีน และฉีดให้ระหว่างการกักตัว

Advertisement

“ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย กรมการจัดหางานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก โดยมีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
สำหรับขั้นตอนนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้
1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง

2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

4.1 บัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง

4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน

4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน

4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19

4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด

4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว

4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน

4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน

– ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท

– วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/คนต่างด้าว 1 คน

5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว

6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)

7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT – PCR ดังนี้

1. คนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง

2. คนต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้แก่คนต่างด้าว และให้นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image