‘ศักดิ์สยาม’ ตามการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ พบ 5 เหตุทำรถติด เสนอ 32 โครงการแก้

แฟ้มภาพ

‘ศักดิ์สยาม’ เร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ พบ 5 ปัญหาทำรถติด พร้อมเสนอ 32 โครงการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน  รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง (ทล.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กทพ.ได้รายงานความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในภาพรวมทั้งระบบ รวมทั้งศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วนในเส้นทางอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดย กทพ.ได้ดำเนินการศึกษาปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รายงานผลการศึกษาต่อกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งจากการศึกษาปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ พบว่า ปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ มีลักษณะของปัญหาแบ่งได้ 5 ลักษณะ คือ

1) ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ (Over Section Capacity) 2) ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก (Weaving & Merging) 3) ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ (Off-Ramp Congestion) 4) ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง (Over Toll Plaza Capacity) และ 5) ปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ (Bottleneck) โดยมีเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ 3 เส้นทางประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 เส้นทางที่ 2 ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา เส้นทางที่ 3 ทางพิเศษฉลองรัช

นายศักดิ์สยามกล่าวเพิ่มเติมว่า กทพ.ได้มีการวิเคราะห์ความเหมาะสม และจัดลำดับความสำคัญ เพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

Advertisement

1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ.2565-2569) จำนวน 16 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 38,132 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 16.35 และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ.2570 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 9,401 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ 25.77

2) โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ.2565-2569) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ.2570 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ ซึ่งทั้ง 11 โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างร้อยละ 15.18 ถึงร้อยละ 31.28

นายศักดิ์สยามกล่าวตอนท้ายว่า ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การบริหารสัญญาของโครงการทางพิเศษเดิม การให้เอกชน
ร่วมลงทุน หรือการใช้แหล่งเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) รวมทั้งการทำงานอื่นคู่ขนาน ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานและกรอบระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้

Advertisement

นอกจากนี้ ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ ทล. และ กทพ.ร่วมกันพิจารณาเรื่องของระยะเวลาการดำเนินงานกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้มีความสอดคล้องและสามารถเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลา

2.ให้ ทล.และ กทพ.หารือร่วมกันในการเร่งรัดดำเนินการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
สายศรีนครินทร์สุวรรณภูมิ (M7)

3.ให้ ทล.เร่งรัดดำเนินการการศึกษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าสู่กระบวนการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ต่อไป

และ 4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับสะพานข้ามทางแยก รวมทั้งทางขึ้น-ลง ของทางพิเศษ เช่น จุดขึ้น-ลงทางพิเศษที่อยู่ใกล้บริเวณทางรถไฟฟ้าสายสีแดง จุดขึ้น-ลงทางพิเศษบริเวณทางแยกยมราช และบริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 5.มอบหมาย สนข. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image