สรรพากรสรุปเกณฑ์ภาษี ‘คริปโทฯ’ ไม่หัก ณ ที่จ่าย-เว้นแวต

สรรพากรสรุปเกณฑ์ภาษี ‘คริปโทฯ’ ไม่หัก ณ ที่จ่าย-เว้นแวต

วันที่ 29 มกราคม กรมสรรพากร จ่อประกาศหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีในวันที่ 31 มกราคมนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมกรมสรรพากร กล่าวถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมฟินเทคประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวทาง ดังนี้ 1.การจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล

นายเอกนิติกล่าาวว่า 2.วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้ 3.การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา โดยรายละเอียดต่างๆ จะมีอยู่ในคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกรมสรรพากรกำลังพิจารณาร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย โดยจะเผยแพร่ในวันที่ 31 มกราคมนี้

“กรมสรรพากรมีแนวทางในการผ่อนปรนหลายประการ โดยแบ่งเป็นเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ 1.การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) กรมสรรพากรจะเสนอให้มีการออกกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เท่านั้น 2.การภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงินและไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด

Advertisement

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)กรมสรรพากร จะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นแวต สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต.และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธปท.”นายเอกนิติกล่าว
นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับแนวทางในอนาคต กรมสรรพากรจะหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่านผู้ประกอบธุรกิจ เป็นผู้หักและนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่างๆ โดยรอบอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image