สนพ.เคลียร์ เหตุปัจจัย น้ำมันแพง

สกู๊ปหน้า 1 : สนพ.เคลียร์ เหตุปัจจัย น้ำมันแพง!!

หนึ่งในประเด็นร้อนสังคมไทยเวลานี้คือ ปัญหาค่าครองชีพจากราคาสินค้าแพงยกแผง ต้นเหตุหนึ่งมาจาก ราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุด ทุกบาททุกสตางค์ที่ขึ้นจึงเสียดแทงความรู้สึกชาวบ้านอย่างมาก

ไทยนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก เมื่อต่างประเทศขึ้นราคา ไทยจึงต้องขยับตาม ขณะที่ปัจจัยในประเทศเรื่องการตรึงราคาน้ำมัน ก็มีการถกเถียงเช่นกัน ทั้งส่วนผสมไบโอดีเซล (บี100) อัตราภาษีสรรพสามิต และการส่งออกน้ำมัน

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจกแจงให้ฟังว่า แม้ไทยจะขุดน้ำมันได้เยอะ แต่ก็ต้องนำเข้าเป็นหลัก เพราะการจัดหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ

ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 951,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ผลิตได้ในประเทศเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และต้องผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อแยกสารประกอบออกเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ โดยที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยถูกออกแบบมาเพื่อกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยการอ้างอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียบวกกับค่าขนส่งมายังโรงกลั่นในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศต้องไม่สูงกว่าราคาที่อ้างอิง

Advertisement

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องอิงราคาสิงคโปร์ทั้งที่กลั่นในไทย “วัฒนพงษ์” อธิบายว่า ปัจจุบันศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาคคือ ตลาด NYMEX อเมริกา ตลาด ICE ยุโรป และตลาด SGX เอเชีย ซึ่งการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของไทยใช้วิธี Import Parity เป็นการเทียบเคียงกับการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ เนื่องจากตลาดสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยต่ำที่สุด

ทั้งนี้ คำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางที่ประเทศสิงคโปร์

ส่วนคำถาม…ทำไมเมียนมาและมาเลเซีย ขายน้ำมันได้ถูกกว่าไทย ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

Advertisement

1.ด้านต้นทุนเนื้อน้ำมัน ราคาน้ำมันของประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศไทยและมาเลเซียแตกต่างกันตามระยะทางจากตลาดสิงคโปร์ ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยสูงกว่ามาเลเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ตลาดสิงคโปร์มากกว่า

ต่อมาคือ ต้นทุนคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีคุณภาพน้ำมันในระดับที่ต่ำกว่า และต้นทุนเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) ที่เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10, E20, E85, 91, E10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 บี10 และ บี20 ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทย

2.ด้านภาษีและกองทุน โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมัน

“เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาของประเทศไทยก็ไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปมาก ตามที่มักมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงณ วันที่ 17 มกราคม 2565 ประเทศที่มีราคาน้ำมันดีเซลถูกกว่าประเทศไทย ได้แก่ บรูไน อยู่ที่ 7.65 บาทต่อลิตร มาเลเซีย อยู่ที่ 17.08 บาทต่อลิตร เมียนมา อยู่ที่ 28.35 บาทต่อลิตร และอินโดนีเซีย อยู่ที่ 27.87 บาทต่อลิตร” ผอ.สนพ.ให้ข้อมูล

อีกประเด็นร้อนคือการเก็บภาษีสรรพสามิตสูง ที่หลายฝ่ายเรียกร้องกระทรวงการคลังปรับลด ผู้อำนวยการ สนพ.แจงว่า ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท อาทิ สินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

“วัฒนพงษ์” ยังอธิบายเหตุผลในการผสมไบโอดีเซลซึ่งมีราคาแพงในน้ำมันดีเซลว่า ที่ผ่านมาภาครัฐส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ บี100 มีราคาสูงขึ้นมาก โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้เกษตรกรปาล์มน้ำมัน

เมื่อราคาไบโอดีเซลสูงขึ้นจึงมีผลกระทบกับราคาน้ำมัน เนื่องจากกระทรวงพลังงานใช้ราคาไบโอดีเซลอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นเพื่อจัดทำประกาศโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล บี7 บี10 และ บี20 หากราคาไบโอดีเซลปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกและผู้ใช้น้ำมัน

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันและน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนมีค่าครองชีพสูงขึ้น

ภาครัฐตระหนักถึงความเดือดร้อนในเรื่องนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเดือนตุลาคม 2564 มีมติลดสัดส่วน บี100 ลง แต่จากการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมแล้ว เห็นว่าการคงสัดส่วนเดิมไว้น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2564 จึงกลับไปใช้สัดส่วนเดิม

อย่างไรก็ตาม ราคาไบโอดีเซลยังคงสูงอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม 2564 กบง.จึงให้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้ไม่เกินร้อยละ 7 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 รวมทั้งกำหนดให้ราคาของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาไม่สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะนี้มีคำถามจากทุกทิศว่ากระทรวงพลังงานจะแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างไร “ผอ.สนพ.” ให้คำตอบว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยกระทรวงพลังงานมีมาตรการต่างๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

รวมทั้งยังดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แม้กระทรวงพลังงานดำเนินการมาตรการต่างๆ แล้ว แต่ราคายังคงผันผวนในระดับสูง

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงมีมติออกมาตรการช่วยเหลือให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยกู้ยืมเงินเพิ่มไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งประเมินแล้วว่าน่าจะเพียงพอถึงไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 และปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจาก 0.10 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่อัตรา 0.005 บาทต่อลิตร
เป็นเวลา 1 ปี และจัดเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตรต่ออีก 2 ปี รวมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคงค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

“ในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบสูงเกิน 87.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือสถานภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรแล้ว ให้ประสานกระทรวงการคลังเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป” ผอ.สนพ.ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image