ปธ.สมาคมเอสเอ็มอี ห่วง 3 กองหนี้ลุกลาม หวั่นนโยบายเชื่องช้า รายย่อยต้องพึ่งเงินนอกระบบ

ปธ.สมาคมเอสเอ็มอี ห่วง 3 กองหนี้ลุกลาม หวั่นนโยบายเชื่องช้า รายย่อยต้องพึ่งเงินนอกระบบ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและประชาชน ยังเผชิญปัญหาหนี้ 3 กอง ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่กำลังก่อปัญหาลุกลามมากขึ้นใน ปี 2565 และอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขก่อนโดยเร็ว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องหลังจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สร้างปัญหา และทิ้งปัญหาไว้ให้แก้ไขอย่างมากมาย ในปี 2565 จะปะทุอย่างรุนแรงขึ้นอีก ผลจากรายได้ลด ต้นทุนธุรกิจและการดำเนินชีวิตสูงขึ้น ภาระทางการเงินทั้งเงินกู้และดอกเบี้ย คนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่มีจำนวนว่างงานมากขึ้น จำนวนไม่น้อยส่งผลให้แบกรับปัญหาดังกล่าวไม่ไหว ทำให้หนี้ครัวเรือนเกือบ 90% ของจีดีพี ที่จะเปลี่ยนจากปกติเป็น Special mention(กล่าวถึงเป็นพิเศษ) และลุกลามไปเป็นหนี้เสียในอนาคต และนำไปสู่การก่อปัญหาเกิดหนี้นอกระบบที่จะมีความซับซ้อนและยากต่อการแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้นต่อไป

” กองทุนฟื้นฟู SME จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวบรวมและฟื้นฟูดูแลเชิงรุก เปิดโอกาสให้ SME ไม่ถูกจำคุกทางการเงิน และเป็นตราบาปไปตลอดชีวิตกับสถาบันการเงินนั้นๆ สิ่งสำคัญ คือ ความกล้าหาญสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้โอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงมาตรการรัฐ มีแต้มต่อ ไม่ต้องรอขอเงินรัฐ จัดงานจัดอาชีพ รีบเร่งต่อความทุกข์ยากเอสเอ็มอีและประชาชน และ การเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ SME (SME Credit Scoring Card) บัตรเครดิตซื้อสินค้า บริการ ห้างร้านที่เป็นคู่ค้าและจ่ายค่าแรงพนักงานตนเอง (Supply chain management) ” นายแสงชัย กล่าว

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนว่างงาน นักศึกษาตกงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจ และขาดสภาพคล่อง รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยากขึ้น จากการความสามารถในการชำระหนี้ ผลประกอบการลดลง และการเป็นหนี้เสีย แต่สิ่งที่เป็นจะเป็นประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ดียิ่งขึ้น ด้วยกองทุนฟื้นฟู SME ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบนิเวศน์เอสเอ็มอีที่รองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก คือ 1. ลงทะเบียนแก้หนี้เอสเอ็มอี และประชาชนที่มีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับระบบที่ปรึกษาทางการเงินเป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือวางแผนทางการเงินที่ลดภาระทางการเงินเดิมที่มีทั้งในและนอกระบบ 2. จากนั้นประเมิน SME Credit Scoring เพื่อเติมทุนใหม่ Restart up ธุรกิจ ในรูปแบบ SME Credit Scoring Card คือ ทุนสำรองที่ให้วงเงินในบัตรใช้สำหรับการประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ อาทิ ซื้อวัตถุดิบจากบริษัท หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนแบะตกลงไว้ จ่ายค่าจ้างงาน หรือ เงินเดือนพนักงานที่ระบุไว้ในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และมีเครดิตเงินหมุนเวียนธุรกิจเพิ่มเติมได้ถึง 30-45 วัน อีกทั้งรายงานสถานะการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีแต่ละราย ทำระบบบัญชีอย่างง่าย เพื่อให้บริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่สงึมีประสิทธิภาพ

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า และ 3. เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐในระบบพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามความต้องการ อาทิ Digital SME Citizenship ให้เอสเอ็มอีมีความรู้ ทักษะ ขีดความสามารถด้านดิจิทัล สามารถใช้งานได้ ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจตนเอง การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า บริการให้ผู้ประกอบการ เป็นต้น

Advertisement

” สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและประชาชนที่ว่างงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ หรือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องการทำงานมีอาชีพเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้าระบบฟื้นฟู แก้ไขหนี้ และเติมทุนต้นทุนต่ำ สร้างระบบเครดิตให้แต้มต่อทางเงินหมุนเวียน รวมทั้งระบบบ่มเพาะสร้างวินัยทางการเงินด้วยที่ปรึกษา มีการเขื่อมโยงมาตรการต่างๆของภาครัฐให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ” นายแสงชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image