ปี64 ไทยเนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุน กว่า 8.2 หมื่นลบ. ญี่ปุ่นนำโด่ง 2.3 หมื่นลบ.

ปี64 ไทยเนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุน กว่า 8.2 หมื่นลบ. ญี่ปุ่นนำโด่ง 2.3 หมื่นลบ. จ้างงานคนไทยรวมกว่า 5,450 คน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ตลอดปี 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 570 ราย เงินลงทุนรวม 82,501 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 5,450 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น 163 ราย (ร้อยละ 28.6) เงินลงทุน 23,260 ล้านบาท
อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา 88 ราย (ร้อยละ 15.4) เงินลงทุน 5,948 ล้านบาท
อันดับที่ 3 สิงคโปร์ 86 ราย (ร้อยละ 15.1) เงินลงทุน 10,530 ล้านบาท
อันดับที่ 4 ฮ่องกง 41 ราย (ร้อยละ 7.2) เงินลงทุน 19,555 ล้านบาท
อันดับที่ 5 จีน 29 ราย (ร้อยละ 5.1) เงินลงทุน 3,748 ล้านบาท

อันดับที่ 6 เนเธอร์แลนด์ 18 ราย (ร้อยละ 3.2) เงินลงทุน 3,063 ล้านบาท
อันดับที่ 7 เยอรมนี 16 ราย (ร้อยละ 2.8) เงินลงทุน 695 ล้านบาท
อันดับที่ 8 ฝรั่งเศส 15 ราย (ร้อยละ 2.6) เงินลงทุน 1,127 ล้านบาท
อันดับที่ 9 เกาหลี 14 ราย (ร้อยละ 2.5) เงินลงทุน 847 ล้านบาท
อันดับที่ 10 สหราชอาณาจักร 9 ราย (ร้อยละ 1.5) เงินลงทุน 636 ล้านบาท และ ประเทศอื่น 91 ราย (ร้อยละ 16.0) เงินลงทุน 13,093 ล้านบาท

ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เช่น
* บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบ รวมถึง การบริหารจัดการโครงการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
* ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบ และทดสอบเครื่องจักร/อุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ
* ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล
* บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ * บริการควบคุมการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ การตรวจสอบและการรับรองคุณภาพของเคมีภัณฑ์ และการบำบัดน้ำเสีย
* บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์
* บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และบริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการในสถานีดังกล่าว เป็นต้น

คาดว่าตลอดปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นสัญญาณจากการลงทุนของบริษัทไทยและต่างชาติที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 56 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,906 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 447 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น *องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และการบำรุงรักษาระบบในโครงการรถไฟฟ้า *องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการเชื่อมต่อ EV Low priority system และการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานร่วมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และ *องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการออกแบบกระบวนการผลิตและความรู้ด้านการควบคุมระบบการกำจัดกากมลพิษอุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
2. บริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการในสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
3. บริการควบคุมการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ การตรวจสอบและการรับรองคุณภาพของเคมีภัณฑ์ และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image