ประทีป วัชรโชคเกษม จากเด็กขายไอติมไม้ละสลึงสู่มหาเศรษฐี ‘มีวันนี้เพราะซื่อสัตย์ กตัญญู’

ประทีป วัชรโชคเกษม

“ภูมิใจในความเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
พ่อแม่สอนให้ซื่อสัตย์ กตัญญู ไม่เอาเปรียบใคร
มีสัจจะวาจา พูดคำไหนคำนั้น กล้าตัดสินใจ แต่ไม่ทรนงตน
ชีวิตจึงมาถึงวันนี้”

เป็นคำกล่าวเรียบง่าย แต่ครบถ้วน ของ ประทีป วัชรโชคเกษม ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เจ้าของอาณาจักร แสงประทีปออโต้ซีท ผู้ผลิตงานลวดเหล็กขึ้นรูปสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อันดับต้นๆ ของเมืองไทย

นั่งเก้าอี้นายกสมาคมตระกูลโอวหยางแห่งประเทศไทย และรองประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย ที่มี ดร.กิตติ อิทธิภากร เป็นหัวเรือใหญ่

ผ่านเส้นทางชีวิตจากเด็กขายไอติมไม้แดงแท่งละสลึง สู่ (มหา) เศรษฐี (หลาย) พันล้าน ด้วยเหตุผลที่เหนือกว่าคำว่า ‘โชคชะตา’

Advertisement

แม้เรื่องราวการต่อสู้ของผู้คนจากยุคเสื่อผืนหมอนใบ จนกลายเป็นเจ้าสัว ถูกบอกเล่ามาแล้วมากมาย ดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่ต้องล้อมวงฟัง ทว่า รายละเอียดน่าสนใจในทุกย่างก้าวของมหาเศรษฐีแห่งวงการเบาะรถยนต์ท่านนี้ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือชีวิตสุดเข้มข้นจนเจ้าของเรื่องราวก็ยังออกปากอย่างทีเล่นทีจริงว่า “น่าจะเอาไปสร้างหนังดูสักที” (หัวเราะ)

เด็กชายประทีป แซ่อาว เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2493
บิดาแซ่โอวหยาง มารดาแซ่แต้ ทั้งคู่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพขายน้ำแข็ง
เกิดและเติบโตในชุมชนชาวจีนในตลาดประจันตคาม เป็นพี่ชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 6 คน
มีชื่อจีนว่า โอวหยาง หย่งฮง

“บรรพบุรุษมาจากเมืองเถ่งไฮ่ แห่งเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ่อตั้งชื่อประทีปให้สอดคล้องกับความหมายของชื่อจีน คือ หย่งฮง สื่อถึงแสงสว่าง ความสำเร็จ ความร่ำรวย ถ้าพูดชื่อเต็มสำเนียงจีนกลางคือ โอวหยาง หย่งฮง แซ่ โอวหยาง สำเนียงแต้จิ๋ว คือ อาวเอี๊ยง หมายถึง ดวงอาทิตย์”

Advertisement
เด็กชายประทีป แซ่อาว

ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น วัชรโชคเกษม สื่อถึงสิ่งดีงาม มีความเกษมสุข

“นามสกุลนี้ผมตั้งขึ้นมาเองเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เพราะเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่เด็ก ดูแลพ่อแม่ พี่น้อง ทำธุรกิจ บริหารจัดการจนประสบความสำเร็จในชีวิต”

จบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประจันตราษฎร์บำรุง ก่อนเก็บกระเป๋ากระโดดข้ามชั้นสู่มหาวิทยาลัยชีวิตตั้งแต่วัย 12 ขวบ ก่อนถูกเรียกด้วยคำว่า ‘เถ้าแก่’ ในวัยเพียง 19 ปี ไต่สมรภูมิธุรกิจจนเติบโตขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสังคม ตอบแทนบ้านเกิดจนโล่เกียรติยศเต็มชั้นวางในห้องทำงาน โดยเคยเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของหลายสมาคม รวมถึงนายกสมาคมส่งเสริมชาวคลองเตย สมัยที่ 13

เข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่ออายุ 35 ปี โดยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ.2528 จากนั้น ได้สวมหมวกหลายใบบนเก้าอี้หลายต่อหลายตัว อาทิ รองนายก อบจ.ปราจีนบุรี, นายกยุวสมาคมแห่งประเทศไทย (เจซีไอ) พระโขนง, ที่ปรึกษาประธานรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรยุค มารุต บุนนาค, ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหารพรรคประชากรไทย เป็นต้น
ทั้งยังเคยลงสนามชิงผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ ชูนโยบายรถโดยสารสาธารณะ ศูนย์เด็กอ่อน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

แม้การงานมากมาย เกียรติยศเงินทองหลั่งไหล แต่ยังไม่ทิ้งการศึกษา โดยมุ่งมั่นจนจบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

บรรทัดจากนี้คือถ้อยคำที่พรั่งพรูจากความทรงจำที่ยังแจ่มชัด แม้ชีวิตเดินทางมาถึงวัย 72 ปี
พอใจในทุกสิ่งของวันนี้ ท่ามกลางครอบครัวอบอุ่นที่มีบุตรชายสืบทอดวงศ์ตระกูลและกิจการ 3 คน หลาน 13 คน

ชีวิตวัยเด็กของเด็กชายประทีป แซ่อาว เป็นอย่างไร

เป็นคนไม่เคยมีวัยเด็ก เพราะพ่อแม่ไม่มีตังค์ ชีวิตมีแต่วัยทำงาน เด็กๆ ทำไอติมขายแท่งละสลึงที่สถานรีถไฟประจันตคาม ห่างจากบ้านราวๆ 500 เมตร วิ่งขึ้นไปขายบนรถไฟกับรถเมล์ด้วย ทุกวันนี้ยังจำได้ ให้ทำอีกตอนนี้ก็ยังทำเป็น ตอนนั้นขายดี มีไม้แดง สมัยก่อนไม่มีรองเท้าใส่นะ
พออายุ 12 ไปอยู่กับยายที่อำเภอกบินทร์บุรี ช่วยขายของโชห่วย ของชำ เครื่องบวช สังฆภัณฑ์ สบง ผ้าถุง น้ำปลา ที่บ้านยายเป็นเศรษฐี มีรถเมล์ด้วย ผมก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์ สมัยนั้นมีการตกข้าว คือ เอาเงินให้ชาวนาไปทำทุน ถึงปีก็มาขายข้าวให้เรา การได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ทำให้รู้หลักการค้าขาย ทำธุรกิจ มีพื้นฐานความเป็นเถ้าแก่ตั้งแต่เด็ก

แล้วจุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน มีวิสัยทัศน์อะไรในวัยแค่ 10 กว่าๆ ว่าธุรกิจเบาะรถยนต์รุ่งแน่

ตอนนั้นอายุ 15-16 มีความขัดแย้งกับยาย เรื่องจะไปดูหนังกลางแปลงเรื่องนางไม้ ยายไม่ให้ไป เลยทะเลาะกัน (หัวเราะ) ยายบอกว่า ถ้าไปก็ไม่ให้อยู่ด้วยแล้ว เลยตอบว่า ไม่อยู่ก็ได้ รุ่งเช้าเก็บเสื้อผ้าไปขึ้นรถไฟที่สถานีกบินทร์บุรี เที่ยว 9 โมง มีเงินติดตัวกว่า 100 บาท ยุคนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท
ผ่านอำเภอประจันตคามบ้านพ่อแม่ ไม่ลง ไปลงฉะเชิงเทรา แล้วต่อรถไปที่ชลบุรี กะว่าจะไปเป็นช่างฟิต เพราะชอบซ่อมรถยนต์ ไปถึงเกือบเที่ยงก็ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่หน้าเฉลิมไทย ริมถนนสุขุมวิท ชลบุรี กินเสร็จบอกคนขาย เจ๊! ฝากกระเป๋าหน่อยนะ แล้วเดินไปหางานทำ เห็นคนหนุ่มรุ่นเดียวกันถือกระเป๋ามา ความที่เป็นคนค้าขายแต่เด็กก็มองออกว่า คนนี้ต้องมาหางานทำเหมือนเราแน่ (หัวเราะ)
ผมถามว่า พี่ไปทำงานที่ไหน เขาบอกว่าสมัครไว้ที่ร้านทำเบาะ นัดคุย 6 โมงเย็น ผมบอก ช่วยฝากอีกคนสิ เขาทำเฉย เราเลยไปสมัครงานตามอู่รถ บอกเขาว่าทำเป็นทุกอย่าง เงินเดือนไม่เอา ขอข้าวกินอย่างเดียว แต่ก็ไม่มีใครรับ สมัยก่อนไม่ค่อยรับกันง่ายๆ เพราะหวงวิชา

พอถึง 6 โมงเย็น จะค่ำแล้ว ใครให้ไปเป็นอะไรก็เป็นหมดตอนนั้น นึกถึงที่ยายพูดว่า เราไปจากเขาก็อดตาย เราบอกไม่มีทาง เลยไปร้านทำเบาะติดกับข้าวต้มยินดี เจอคนเมื่อตอนกลางวันกำลังคุยกับเถ้าแก่ ผมบอกรับอีกคนได้ไหม เถ้าแก่บอกยังเด็กไป เลยตอบว่า ทำเป็นทุกอย่าง หุงข้าว ทำกับข้าว ซักผ้า รีดผ้า เป็นกระเป๋ารถเมล์ รถสองแถวได้หมด สุดท้ายเขารับ ให้วันละ 2 บาท วันแรกสั่งให้ขนไม้จากดาดฟ้าไปไว้โกดัง คนที่เข้ามาพร้อมกัน 3 วันเผ่น เพราะงานหนัก แต่เราไม่มีทางเลือก ก็ต้องขนจนเสร็จ ลอกท่อระบายน้ำครำ
เวลาคนมาซื้อผ้าปูพื้น เบาะรถยนต์ ผ้าใบ ผมเป็นคนขาย อยู่สัปดาห์เดียวก็รู้แล้ว เพราะเคยขายของชำเป็นร้อยๆ รายการ พวกเบาะมี 5-10 รายการเท่านั้น สิบล้อมาซื้อผ้าใบเราก็รู้ว่าขายกันเท่าไหร่ ตีราคาและเสนอราคาขายไป เถ้าแก่ก็ชอบใจ เลยให้มาเฝ้าร้าน บางทีซื้อทุเรียนมาให้กิน
อยู่ได้ 2 สัปดาห์ทำเป็นหมด เพราะเคยเย็บผ้าถุง ผ้าขาวม้า พอมาเย็บเบาะก็เย็บได้ หุ้มได้ บางชิ้นยังไม่สวย เอามาขายสิบล้อกลางคืน จากรายได้วันละ 2 บาท เถ้าแก่ให้ 100 บาทต่อเดือน พอเข้าเดือนที่ 2 ให้ 150 ผมอยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน แล้วก็มีเหตุให้ลาออก

ประทีป วัชรโชคเกษม ในวัยหนุ่ม

รายได้ก้าวหน้าเร็วมาก เถ้าแก่ก็รัก ทำไมต้องลาออก

นอกจากงานอื่นๆ แล้ว ผมยังมีหน้าที่ซื้อกับข้าวตอนเช้า หุงข้าวให้คนงานกิน วันหนึ่งโดนคนแกล้งเดินชนจักรเย็บผ้าให้ปิ่นโตตก เมียเถ้าแก่ลงมาด่าว่าทำไมวางปิ่นโตซี้ซั้ว เราด่ากลับ ว่าทำไมไม่ด่าคนชน มาด่าคนวางทำไม เลยขอลาออก เถ้าแก่ไม่ให้ออก แต่เรายืนยัน เขาเลยคิดตังค์ให้ ผมคิดว่าจะไปทำงานร้านเบาะที่ปากซอยพนัสนิคม แต่เถ้าแก่ร้านนั้นเข้ากรุงเทพฯพอดี ที่ร้านเลยรับไว้ไม่ได้ หน้าร้านเป็นป้ายรถเมล์ ปรากฏว่ารถมาพอดี เลยขึ้นรถเมล์เข้ากรุงเทพฯ ถามกระเป๋าว่าที่กรุงเทพฯร้านเบาะอยู่แถวไหน เขาบอกแถววรจักร ให้ลงพระโขนงแล้วต่อรถเมล์ขาว เป็นการเข้ากรุงเทพฯครั้งที่ 2 ในชีวิต แต่เป็นครั้งแรกที่มาคนเดียว
ปรากฏว่า พอไปสมัครงาน เจอร้านเก่าเถ้าแก่ เขาเคยทำงานที่ร้านที่วรจักร แล้วไปเปิดร้านที่ชลบุรี ร้านนี้แนะนำให้ไปสมัครอีกร้าน เขาก็ไม่รับ แต่ให้ไปอีกร้านแถวศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ผมก็นั่งรถเมล์ไป เขารับ ให้เดือนละ 350 บาทเลย อยู่ไป 5-6 เดือน ทำเป็นหมด งานยากๆ ก็ทำได้ แต่พอสงกรานต์ไม่ให้กลับบ้าน เราบอกไม่ให้กลับก็จะกลับ สรุปว่าไปเลย 20 วัน แล้วมาเก็บเสื้อผ้า ไปทำงานในร้านที่ซอยทรัพย์ ถนนนเรศ ตรงสามย่าน เป็นร้านใหญ่ในกรุงเทพฯ เท่ากับเบอร์ 1 ของไทยในยุคนั้น เขาให้เดือนละ 750 บาท ได้เป็นช่างใหญ่ อยู่ที่นั่นปีครึ่ง แล้วออกไปทำงานข้างนอกจุ๊กๆ จิ๊กๆ สัก 5-6 เดือนที่คลองเตย จากนั้นออกมาเปิดร้านเอง

ช่วงเวลาแค่ 2 ปี จากลูกจ้างค่าแรงวันละ 2 บาท ทำไมตัดสินใจเปิดร้าน เอาทุนมาจากไหน

มีพวกอู่รถมาบอกว่า ไปเป็นเถ้าแก่สิ เดี๋ยวเขาดูแลให้ ผมเป็นคนค่อนข้างประหยัด มีเงินเดือนส่งให้พ่อแม่ ที่เหลือเก็บไว้ เลยมีทุนไปเช่าตึกหัวมุมที่คลองเตยเฉพาะชั้นล่าง เดือนละ 500 บาท ห้องน้ำก็ไม่มี ต้องไปเข้าที่ตลาดโต้รุ่งบ้างอะไรบ้าง อยู่ตรงนั้นประมาณปีกว่า ทุน 2-3 หมื่นบาท ยุคนั้นเงินเดือนปริญญาตรีน่าจะราว 600 บาท เท่านั้น
ตอนนั้นอายุ 18 ย่าง 19 แต่ฝีมือดีแล้ว ทำงานยากๆ ได้ เปิดปุ๊บมีงานเลย เบาะรถเบนซ์ เปอโยต์ คันละพันกว่าบาท ผมทำ 2-3 พันบาท แพงกว่าคนอื่น แต่คนติดใจเอามาให้ทำ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทดังก็มาให้เราทำ แค่ปีกว่าๆ มีเงินเป็นแสน ไปซื้อตึกที่สำโรง ปู่เจ้าสมิงพราย รายล้อมด้วยโรงงานประกอบรถยนต์ แต่ตอนนั้นไม่รู้หรอก เพื่อนชวนก็ตามเพื่อนไป เหมือนเป็นโชคชะตา อยู่ที่นั่น 8 ปี แล้วกลับคลองเตย จากนั้นย้ายไปอุดมสุข ตอนนี้อยู่ลาดกระบัง เป็นโรงงานระดับพันล้าน เราผลิตโครงสร้างเบาะรถยนต์ และกำลังวิจัยทำพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับเสิร์ฟอาหาร ลูกชายจบวิศวะจากเมืองนอกมาช่วยดูแล

จาก 1 สลึง ถึงพันล้าน เคล็ดลับและหลักการทำธุรกิจของตัวเองคืออะไร

ผมเป็นคนทำธุรกิจเชิงรุก จากที่ยังไม่มีโรงงานผลิต ก็พัฒนาขึ้นไปอีก มีคนญี่ปุ่นมาสั่งพวกเกี่ยวกับอุปกรณ์ทำเบาะ เราก็เป็นตัวแทนขายให้ มีการประมูลสินค้าของเหลือใช้จากโรงงานมาขาย และตั้งโรงงานผลิตเบาะ กระทั่งทุกวันนี้เราเป็นเบอร์ 1 ในการทำเบาะรถยนต์ และกำลังพัฒนาหุ่นยนต์มือ ตอนนี้มีหลายบริษัท ใหญ่สุดคือแสงประทีปออโต้ซีท
หลักการของเถ้าแก่ที่ประสบความสำเร็จคือ มีความรู้ความสามารถ มีศิลปะในการเจรจา ใจกล้า อ่านปัญหาออก ทันโลก นำผลกำไรมาพัฒนากิจการ ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะ และเครดิตคือหัวใจของธุรกิจ

เหตุการณ์หลายครั้งในชีวิต ดูเหมือนใจร้อน ตัดสินใจรวดเร็วมาก แต่พาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ผมใจเร็ว ตัดสินใจเร็ว ไม่ใช่ใจร้อน ถ้าชอบ ปุ๊บปั๊บเลย (ยิ้ม)

นอกจากทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้ว มีกิจกรรมเพื่อสังคมหลายอย่างโดยเฉพาะการกลับไปดูแลบ้านเกิดที่ปราจีนบุรี

ชีวิตมีทุกอย่างแล้ว ตอนนี้เน้นช่วยเหลือสังคม ปกติก็ชอบทำบุญอยู่แล้ว และผมเป็นคนรักบ้านเกิด ไปสร้างหอฉันที่วัดศรีประจันตคามหลังหนึ่ง สร้างเรือนพยาบาลที่โรงเรียนประจันตราษฎร์บำรุงและตั้งมูลนิธิด้วย ที่ผ่านก็บริจาครถพยาบาลฉุกเฉินให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างฐานอนุสาวรีย์ท้าวอุเทน (ภักดีเดชะ) เจ้าเมืองประจันตคาม นอกจากนี้ ก็สร้างอาคารผู้สูงอายุที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคมปี 2553 ด้วย
ตอนนี้ก็มีที่ดินมีทรัพย์สินที่ปราจีนฯเยอะ ตรงไหนขายก็ซื้อ จากที่ไม่มีที่ดินของตัวเอง ต้องอาศัยปลูกบ้านให้แม่บนที่ดินคนอื่น ตอนหลังที่ดินทั้งหมดที่แม่เคยอยู่ก็ซื้อให้พ่อแม่อยู่

บรรยากาศตรุษจีนที่ประจันตคามในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง

คึกคักมาก คนเยอะ แน่น มีจุดประทัด เชิดสิงโต เราเด็กๆ ก็ตื่นเต้น ยุคนั้นร้านค้ายังไม่เยอะ ชาวนาต้องมาซื้อของที่ตลาดประจันตคาม จึงมีคนเดินกันขวักไขว่ คนจีนส่วนใหญ่ในตลาดเป็นคนแต้จิ๋ว จีนไหหลำก็มี บรรยากาศชุมชนชาวจีนในอำเภอประจันตคามตอนนั้นเข้มแข็ง ในตลาดก็คนจีนทั้งนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติๆ กัน

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ ขอให้ทุกคนมีความมั่งมีศรีสุข มีความสุขความเจริญ โชคดีมีชัย ทำธุรกิจก็ขอให้มีเครดิต มีความสำเร็จในชีวิต

เป็นคนดี ยึดรากฐานของความซื่อสัตย์กตัญญู ช่วยเหลือสังคม ประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง
 

อะไรคือสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในความเป็นลูกหลานจีน

สิ่งที่ภูมิใจคือ ความเป็นคนจีน วัฒนธรรมจีน พ่อแม่สอนให้ซื่อสัตย์ กตัญญู ทุกวันนี้ก็สอนลูกหลานทุกคนให้เป็นคนดี อย่าทุจริตขี้โกงเด็ดขาด ทั้งต่อตัวเอง ต่อหน้าที่ ต่อครอบครัว ต้องมีสัจจะวาจา พูดคำไหนคำนั้น ที่ชีวิตมาถึงทุกวันนี้เพราะมีเครดิต ไม่เอาเปรียบใคร กับภรรยาผมก็ช่วยทุกอย่าง ซักผ้าถูบ้านยังทำได้เลย ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ทำ แต่ยังเก็บถ้วยล้างชามบ้าง (หัวเราะ) บางทีว่างก็ทำ ไม่ได้คำนึงว่าเป็นเศรษฐี เราใช้เงินเป็น บริหารเงินไม่ซี้ซั้ว

บทบาทในฐานะประธานสมาคมตระกูลโอวหยางแห่งประเทศไทย

ต้นตระกูลโอวหยางคือมหาบุรุษโกวเจี้ยนเป็นกษัตริย์รัฐเย่ว์ สำหรับสมาคมตระกูลโอวหยางแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ผมดำรงตำแหน่งมานาน 1 ปีเศษ ตั้งใจจะเป็น 2 สมัยเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ แซ่โอวหยางข้อมูลที่มีในไทยราวหมื่นกว่าคน แต่เปลี่ยนนามสกุลเป็นไทยแล้ว เวลาจัดงานแต่ละครั้ง มีผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคน โต๊ะจีน 500 โต๊ะ
จุดประสงค์หลักของสมาคมคือการรักษาตระกูลแซ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสังคม พัฒนาประเทศชาติ สนับสนุนการศึกษา โดยมีการแจกทุนให้นักเรียนเรียนดี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีเชื้อสายตระกูลโอวหยาง นอกจากนี้ จะมีการทอดกฐิน แจกข้าวสารให้ผู้ยากไร้ด้วย

แนวคิด ปรัชญา หรือภาษิตจีนที่ยึดถือในใจ

ชาวจีนมีปรัชญาชีวิต มีเครดิต และรู้จักรักษาเครดิต คนที่จะก้าวหน้าต้องซื่อสัตย์ กตัญญู เป็นคนดี มีศีลธรรม ความถูกต้อง และบุญวาสนา มีที่อยู่อาศัยที่ดี รากฐานของคนที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องรู้จักการบริหารเงิน บริหารตัวเอง บริหารครอบครัว
ถ้าครอบครัวดี บริหารเงินดี มีเป้าหมายที่ถูกต้องในชีวิตย่อมประสบความสำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image