‘ซิปเม็กซ์’ ชี้แฮกเกอร์ขโมยเหรียญคริปโท เป็นความท้าทายทั้งผู้กำกับดูแล-ผู้พัฒนาระบบ-นักลงทุน

‘ซิปเม็กซ์’ ชี้แฮกเกอร์ขโมยเหรียญคริปโท เป็นความท้าทายทั้งผู้กำกับดูแล-ผู้พัฒนาระบบ-นักลงทุน

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดเผยว่า จากกรณี เวิร์มโฮล (Wormhole) โปรโตคอล ที่เชื่อมต่อโซลานา (Solana) และบล็อกเชน Decentralize Finance (DeFi) หรือระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางอื่นๆ ได้ถูกแฮกเกอร์โจมตี และขโมยเหรียญสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ในระบบคิดเป็นมูลค่ารวม 320 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทผู้ถือหุ้นได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบแล้ว โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีแบบนี้มองว่า ตลาดคริปโทใช้พื้นฐานเป็นเทคโนโลยี จึงเปิดโอกาสให้ถูกแฮกระบบเกิดขึ้นได้ ซึ่งกรณีของเวิร์มโฮล ถูกแฮกและขโมยเหรียญคริปโทไปคิดเป็นมูลค่าที่สูงมาก แต่ยังไม่ถือว่าสูงมากที่สุด หากเทียบกับกรณีการถูกแฮกและขโมยเหรียญคริปโทที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผลกระทบต่อตลาดคือ เราเริ่มเห็นกรณีการแฮกระบบเกิดขึ้น แม้จะน้อยลงหากเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีเกิดขึ้นอยู่ และถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีอยู่แล้ว แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติของแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ที่แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ยังถูกแฮกระบบได้ อาทิ เฟซบุ๊ก โดยถือเป็นบทเรียนของวงการที่ต้องพัฒนาต่อไป รวมถึงในระยะหลังๆ เริ่มมีผู้กำกับดูแล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาแสดงความสนใจมากขี้น ทำให้การเกิดกรณีแฮกเกอร์เจาะเข้าระบบแบบนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยลง

“บทเรียนที่เกิดขึ้นคือ อะไรที่ผลิตอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยี โอกาสที่จะเกิดช่องโหว่และถูกแฮกระบบสามารถเป็นไปได้ โดยถือเป็นความท้าทายของผู้กำกับดูแลว่า หากนักลงทุนโอนเงินไปทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ไม่มีผู้กำกับดูแล จะไม่สามารถปกป้องความเสี่ยงหรือผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่นักลงทุนควรระมัดระวังคือ หากโอนสินทรัพย์ออกไปฝากไว้ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะต้องระมัดระวังความเสี่ยง แล้ยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเองให้ได้ เนื่องจากจะไม่มีผู้ใดดูแลหรือปกป้องให้ เพียงแต่กรณีของเวิร์มโฮล โชคดีที่ผู้ถือหุ้นแสดงความรับผิดชอบและดูแลความเสียหายทั้งหมดได้ แต่ในอนาคตแพลตฟอร์มอื่นๆ อาจไม่มีผู้รับผิดชอบแบบนี้ ทำให้นักลงทุนควรต้องเลือกลงทุนในแพลตฟอร์มหรือบริษัทที่ถูกกำกับดูแล และได้รับใบอนุญาตแล้วเท่านั้น เพราะบริษัทจะสามารถดูแลปกป้องลูกค้าได้ แม้ผลตอบแทนจะไม่มากเท่า แต่ความเสี่ยงก็จะน้อยลงตาม” นายเอกลาภ กล่าว

นายเอกลาภ กล่าวว่า ปกติการแฮกเกอร์จะมี 2 รูปแบบ คือ 1.การแฮกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการภายใน รับรู้กันเองอยู่แล้ว และ 2.มีบุคคลภายในแฮกระบบเข้าไปจริงๆ ซึ่งอาจเป็นการเสนอเงินรางวัลให้กับแฮกเกอร์ เพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ซ้ำขึ้นอีก เป็นเรื่องของผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ก็เห็นกรณีการถูกตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว ก็ยังถูกแฮกได้เช่นกัน ซึ่งส่วนนี้ต้องเข้าไปดูว่า บริษัทที่เข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยนั้น มีคุณภาพมากน้อยเท่าใด และมีหลายบริษัทที่ดำเนินการตรวจสอบหรือไม่ รวมถึงการถูกแฮกระบบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด ทำให้ผู้ผลิตแพลตฟอร์มจะต้องพัฒนาให้ปลอดภัยมากขึ้น และในอนาคตหวังว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนของผู้กำกับดูแล ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นได้

นายเอกลาภ กล่าวว่า สำหรับทิศทางตลาดคริปโทเคอร์เรนซีไทยในปี 2565 ขณะนี้อยู่ในช่วงการพักฐาน แม้มีข่าวดีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไมโครสแตรทเทอจี้ ลงทุนในบิทคอยน์เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะงัก เพราะสหรัฐเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ความชัดเจนของทิศทางดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อทั้งตลาด จึงเห็นปริมาณการซื้อขายที่น้อยลง รวมถึงความผันผวนของตลาดคริปโทน้อยลง ทำให้โอกาสในการหากำไรมีน้อยลง แต่เชื่อว่าในบางรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) อาทิ เอ็นเอฟที หรือ Non-Fungible Token ซึ่งเป็นคริปโทประเภทหนึ่ง ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดแปลงได้ เหรียญคริปโทที่เกี่ยวข้องกับเกม สินทรัพย์เหล่านี้จะยังเติบโตได้ โดยสถานการณ์ในทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น จะเห็นเริ่มมีการกำกับมากขึ้น ทำให้ตลาดนิ่งสักพัก ก่อนจะปรับขึ้นใหม่ เพราะที่ผ่านมาก็ขึ้นมาแล้ว 2 ปีเต็ม ซึ่งถือเป็นช่วงที่นักลงทุนจะต้องใจเย็น และใช้เวลามากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image