ทุนใหญ่ ‘อสังหาฯ-โรงพยาบาล’ ชิงดำที่ดินจุฬาฯ ปั้นสวนหลวง-สามย่าน ‘ศูนย์การแพทย์คอมเพล็กซ์’

ทุนใหญ่ ‘อสังหาฯ-โรงพยาบาล’ ชิงดำที่ดินจุฬาฯ ปั้นสวนหลวง-สามย่าน ‘ศูนย์การแพทย์คอมเพล็กซ์’

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ แหล่งข่าวจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จะเปิดยื่นข้อเสนอโครงการพื้นที่บริเวณหมอน 34 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน เนื้อที่ 12 ไร่ โดยให้เอกชนร่วมลงทุน(PPP) พัฒนาเป็นศูนย์การแพทย์และพื้นที่เชิงพาณิชย์ มูลค่าไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท

มีเอกชนซื้อทีโออาร์ 5 ราย ได้แก่ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MQDC)  กลุ่มทีซีซี แอสเซ็ทส์ กลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THGและโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองของนพ.บุญ วนาสิน คาดว่าจะประกาศผู้ชนะในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสำนักงานจัดการทรัพย์สินและสภามหาวิทยาลัยด้วย

“เงินลงทุนขึ้นอยู่กับเอกชนเสนอรูปแบบโครงการ อาจมากกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาลงทุนตามทีโออาร์กำหนดอย่างน้อย 30 ปี หากเอกชนมองว่าไม่พอ เพราะธุรกิจโรงพยาบาลใช้เวลาคืนทุนนาน สามารถเสนอได้ไม่เกิน 50 ปี เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า รายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย ศูนย์การแพทย์ครบวงจรที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ มีการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง รวมถึงมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์  และศูนย์การดูแลสุขภาพ ตามแนวทาง Smart Hospital และพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬา จะส่งมอบพื้นที่ตามสภาพซึ่งมีอาคารพาณิชย์ยังเหลืออยู่ 65 คูหา โดยส่งมอบภายใน 15 วัน นับจากได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และใช้เวลาก่อสร้างกว่า 4 ปี

ส่วนผลตอบแทนรายปี ขึ้นอยู่กับข้อเสนอ มีกำหนดขั้นต่ำปีที่ 1 – 3 จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 74 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 4 – 6  จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 81 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 7 – 9  จำนวนเงิยไม่ต่ำกว่า 89 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 10 – 12 จำนวนเงินไม่ต่ำว่า 98 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 13 – 15 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 108 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 16 – 18 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 119 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 19 – 21 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 131 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 22 – 24 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 144 ล้านบาทต่อปี , ปีที่ 25 – 27 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 158 ล้านบาทต่อปีและปีที่ 28 – 30 จํานวนเงินไม่ต่ำกว่า 174 ล้านบาทต่อปี รวมระยะเวลา 30 ปี เป็นวงเงิน 3,528 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้กรณีมีข้อเสนอระยะเวลาการได้รับสิทธิพัฒนามากกกว่า 30 ปี ค่าตอบแทนรายปี ในปีที่ 1-30 จะต้องไม่ต่ำกว่าจํานวนเงินตามที่กําหนด ส่วนค่าตอบแทนรายปี ตั้งแต่ปีที่ 31 เป็นต้นไป ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถเสนอค่าตอบแทนรายปีตามความเหมาะสม

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image