ดีเดย์ 14 ก.พ.ใช้ระบบลงลายมือชื่อ-ตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อออกเอกสาร 4 ประเภท

ess
ภาพจาก pixabay

ดีเดย์ 14 ก.พ.ใช้ระบบลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์แทนลงนามและประทับตราสด เพื่อออกเอกสาร 4 ประเภท

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยและอำนวยความสะดวกทางการค้า กรมจึงมีนโยบายผลักดันการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) ในการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้าทุกประเภท เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบันได้ใช้ระบบ ESS สำหรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) แล้วมากกว่าร้อยละ 93 ของปริมาณการออก C/O ทั้งหมด และตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จะขยายสู่การให้บริการออกหนังสือสำคัญฯ อีก 4 ประเภท ได้แก่ 1) หนังสือรับรองการส่งออกเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน (หนังสือรับรอง Kimberly Process) 2) หนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนที่มีโควต้าส่งออกตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (แบบ ตอ. JTEPA) 3) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (แบบ ICO) และ 4) ใบกำกับปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กรีดร้อนนำมารีดเย็นต่อฯ/ รีดเย็น (แบบ ล.3/ล.5)

ระบบ ESS สามารถลดเวลาในการขอรับหนังสือสำคัญฯ ให้เหลือเพียงไม่เกิน 10 นาที/ฉบับ เนื่องจากเป็นระบบที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมพิจารณาอนุมัติคำขอในระบบ หลังจากนั้นระบบ ESS จะนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่มาพิมพ์บนหนังสือสำคัญฯโดยอัตโนมัติ แทนการลงลายมือชื่อและประทับตรา แบบสด ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

นายพิทักษ์กล่าวว่า ปี 2564 กรมออกหนังสือสำคัญฯ ทั้ง 4 ประเภท (หนังสือรับรอง Kimberly Process, แบบ ตอ. JTEPA, แบบ ICO, และแบบ ล.3/ล.5) ที่จะนำเข้าระบบ ESS นั้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 3,639.73 ล้านบาท ดังนั้น การลดขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการของกรมจะเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างเป็นวงกว้าง และช่วยลดต้นทุนทางการค้าจากบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตกรมจะเดินหน้าผลักดันการใช้ระบบ ESS สำหรับการออกหนังสือสำคัญฯ ทุกประเภท เพื่อเตรียมการสำหรับการให้บริการแบบ No Visit อย่างเต็มรูปแบบ โดยการให้ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือสำคัญฯได้จากสำนักงานของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image