กรมชลแจงเหตุนาข้าวจม5พันไร่-ยันอีกรอบไม่ท่วม”กทม.-ปทุมฯ-นนทบุรี” แน่นอน

แฟ้มภาพ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีการระบายน้ำ 2,297 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที ถือว่ามีแนวโน้มทรงตัว ส่งผลให้น้ำหน้าเขื่อนลดลง 8 เซนติเมตร (ซม.) อย่างไรก็ตามพื้นที่ท้ายเขื่อนที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ 11 จุด คือ 1.บ.ท่าทราย อ.สรรพยา จ.ชัยบาท 2.ต.โพนางดำ อ.สรรพยา จ.ชัยบาท 3.วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 4.วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 5.อ.เมือง สิงห์บุรี 6.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี 7.วัดไชโย .ไชโย จ.อ่างทอง 8.อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง 9.คลองโผงเผง จ.อ่างทอง 10.คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 11.ตลาดเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลมาบรรจบกันที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,172 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือเป็นระดับปกติ และจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายน้ำอย่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานีอย่างนอน ทั้งนี้หากจะเข้าสู่ระดับวิกฤตได้น้ำบริเวณดังกล่าวจะต้องมีสู่ถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายทองเปลว กล่าวว่า ทั้งนี้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2559 มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 15,494 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 62 %ของความจุอ่างเท่านั้น โดยเมื่อแยกดูปริมาณน้ำใช้การได้ จะพบว่า มีเพียง 8,798 ล้านลบ.ม. หรือ คิดเป็น 48% ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด และยังสามารถยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีก 9,377 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นรายเขื่อนพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 6,379 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 47% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 2,579 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 27% ของน้ำใช้การได้ทั้งหมด และยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 7,083 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 7,389 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 78 % ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 4,539 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของน้ำใช้การได้ทั้งหมด และยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 2,121 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 825 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 88% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 782 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 87% ของน้ำใช้การได้ทั้งหมด และยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 114 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 902 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 94% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 899 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 94% ของน้ำใช้การได้ทั้งหมด และยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 58 ล้านลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเหตุการณ์น้ำเข้าท่วมในพื้นที่นาข้าว จำนวน 5,000 ไร่ ของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางกุ่ม ท้องที่ต.แม่ลา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยานั้น แต่เดิมเกษตรกร มีกำหนดเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของทุ่งบางกุ่ม ทำให้มีน้ำหลากเข้าทุ่งจำนวนมาก เกษตรกรจึงได้ดำเนินการทำคันดินชั่วคราวเพื่อป้องกันนาข้าวในระหว่างทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร (กม.)ปริมาณน้ำในทุ่งโดยปกติจะไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักผ่านประตูระบายน้ำบางกุ่ม แต่เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักที่สูงขึ้น ทำให้น้ำในทุ่งไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักไม่สะดวก จึงเกิดน้ำเอ่อไหลย้อนกลับเข้าทุ่ง จนทำให้ระดับน้ำในทุ่งสูงขึ้น กัดเซาะคันดินขาดเสียหาย น้ำจึงทะลักเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวทั้งนี้ คันกั้นน้ำแม่น้ำป่าสักในบริเวณดังกล่าว ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ยังอยู่ในระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง จึงไม่ใช่สาเหตุของการเกิดปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image