‘ส.โรงแรม’ เผยสภาพคล่องธุรกิจลดฮวบ หลังระงับเทสต์ แอนด์ โก ทำต่างชาติหาย ขอรัฐอัดยาแรงช่วย

‘ส.โรงแรม’ เผยสภาพคล่องธุรกิจลดฮวบ หลังระงับเทสต์ แอนด์ โก ทำต่างชาติหาย ขอรัฐอัดยาแรงช่วย

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม ประจำเดือนมกราคม 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักลดลงจากการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ และการยกเลิกเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหม่เข้าไทยผ่านเทสต์ แอนด์ โก ชั่วคราวเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของลูกค้าที่ยกเลิกการจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 โดยโรงแรมกว่า 42% ยังมีความกังวลต่อผลกระทบการแพร่ระบาดสูงมาก ซึ่งในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% และกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11% สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลง ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 เพียง 17% ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 40-55% ส่งผลให้เห็นถึงรายได้ของธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงเดือนธันวาคม 2564 แม้โรงแรมที่เปิดกิจการอยู่และรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการระบาด-19 มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่โรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึง 30% ยังมีสัดส่วนประมาณ 49% และมีโรงแรมเพียง 26% ที่รายได้กลับมาแล้วเกิน 50% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นสำคัญ รวมถึงเห็นโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนประมาณ 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมานานกว่า 6 เดือน แต่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป

นางมาริสา กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2565 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ลดลงจาก 37% ของเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับลดลงของโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการแซนด์บ็อกซ์ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงกว่าภาคอื่น โดยคาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะชะลอลงจากเดือนมกราคม ที่ผ่านมา อยู่ที่ 24% กลับมาใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม 2564 หรือช่วงก่อนเปิดประเทศ ส่วนอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัว (เอคิว) จำนวน 18 แห่ง ภาคกลาง 15 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33% ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 25% สำหรับโรงแรมที่เป็นสถานที่รับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 แห่ง ภาคกลาง 3 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 38% สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น เพราะการระบาดโควิดโอมิครอนในประเทศหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าลดลงมาอยู่ที่ 22%

“เดือนมกราคม ที่ผ่านมา โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยลดลง อยู่ที่ 63.6% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราว การจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 64.7% โดยมีการจ้างงานลดลงในเกือบทุกภาค สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่ลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ ซึ่งสัดส่วนการยกเลิกการจองห้องพัก เพราะโควิดโอมิครอน ส่งผลให้เห็นลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 ในทุกภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด ยกเว้นโรงแรมในภาคตะวันออกที่เกือบ 50% ของจำนวนโรงแรมในภาพรวม มีลูกค้ายกเลิกการจองมากกว่า 50% ของยอดจองทั้งหมด” นางมาริสา กล่าว

นางมาริสา กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ ไม่ต่างจากที่เคยนำเสนอไปคือ โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย มาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ การเพิ่มจำนวนห้อง และระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมสำหรับองค์กร และด้านการตลาดหลังโควิด โดยโรงแรมบางส่วนต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ เงินช่วยเหลือพนักงานโรงแรมเพิ่มเติมในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก รีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแบบปลอดเงินต้น สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข อาทิ ค่าชุดตรวจเอทีเค รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการเปิดประเทศ โดยมีมาตรการและสถานที่รองรับผู้ป่วยจากโควิดอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และทันเวลา หรืออาจทดลองเปิดการท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบอย่างน้อย 1 ไตรมาส เพื่อให้สามารถรับมือในการจัดการแพร่ระบาดได้ดีก่อน นอกจากนี้ ควรมีความชัดเจนของมาตรการรัฐและการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าสู่ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ก่อนปฏิบัติจริงทั้งระบบที่รองรับการยื่นคำขอเข้าประเทศ และการจองคิวตรวจ RT-PCR

Advertisement

“จากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทุเลา ทำให้รายได้ฟื้นตัวช้าและกลับมาไม่เหมือนเดิม รวมถึงยังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ทำให้หากกระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันไม่ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบในการประกอบธุรกิจ รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความสามารถที่จะชำระภาษี ส่งผลกระทบกับธุรกิจเป็นลูกโซ่ ขาดสภาพคล่อง มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงาน สมาคมฯ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะ โดยขอผ่อนปรนและยืดเวลาการจัดเก็บออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ เกิดการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” นางมาริสา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image