‘ไทย-เทศ’ สุดฮิต เปิดหลักสูตร ‘ฟินเทค’

‘ไทย-เทศ’ สุดฮิต เปิดหลักสูตร ‘ฟินเทค’

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการเงิน หรือเรียกย่อๆ ว่า ฟินเทค ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องราวของ บล็อกเชน และ คริปโทเคอร์ เรนซี สกุลเงินดิจิทัลหลากหลายสกุลที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกการเงินในอนาคตฟินเทค เป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่จะช่วยจัดการด้านการเงินให้กับการทำธุรกิจในปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ศาสตร์แห่งฟินเทค จึงรวมไปถึงเทคโนโลยีการฝาก-ถอน โอนเงิน โมบายแบงกิ้ง เรื่อยไปถึงเรื่อง เอไอ, บิ๊กดาต้า และความปลอดภัยไซเบอร์ ด้วย

ส่งผลให้สาขาวิชาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค นั้นเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในปี 2022 จากการจัดอันดับของยูนิเวอร์ซิตี้แม็กกาซีน ของประเทศแคนาดา นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ตำแหน่งงานใน
สาขานี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นส่งผลให้มหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาทั่วโลกหันมาเปิดการเรียนการสอนสาขาวิชา ฟินเทค ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ บล็อกเชน และ คริปโทเคอร์เรนซี บรรจุอยู่ในหลักสูตรเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเปิดการเรียนการสอนในสาขา ฟินเทค ในระดับอุดมศึกษามีขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นในประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ในเอเชียเองประเทศจีน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสาร
สนเทศเฉิงตู เวลานี้ก็กำลังมีการเรียนการสอน วิชาเอกวิศวกรรมบล็อกเชน ในระดับปริญญาตรี โดยจะมีนักเรียนจบการศึกษาเป็นรุ่นแรกในปี 2024 นี้

เรเบิร์ต ไคเซอร์ รองอธิการบดี บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยไคเซอร์ สหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเปิดประกาศหลักสูตรปริญญาโทด้านฟินเทค เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า อนาคตของธุรกิจในท้องถิ่นและทั่วโลกนั้นมุ่งไปที่ฟินเทค ขณะที่ความต้องการแรงงานมืออาชีพที่ผ่านเกณฑ์ก็มีเพิ่มมากขึ้นในภาคส่วนนี้ซึ่งกำลังวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ หลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรใหม่นี้จะสร้างโอกาสให้กับผู้จบการศึกษาใช้โอกาสจากทักษะเชิงเทคนิคและความรู้ด้านการเงินที่เป็นที่ต้องการจากผู้ว่าจ้างทั้งในเวลานี้และในอนาคตข้างหน้า ไคเซอร์ ระบุ

Advertisement

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกที่จะเข้าเรียนเกี่ยวกับ บล็อกเชน และ คริปโทเคอร์เรนซี ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ สถาบันโรยอลเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย อันดับที่ 3 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ ของสหรัฐ อันดับที่ 4 มหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และอันดับที่ 5 คือ เอ็มไอที ของสหรัฐ

ขณะที่เรื่อง คริปโทเคอร์เรนซี ก็เตรียมบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมที่ จังหวัดกยองซัง ประเทศเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน โดยเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการฝึกอบรมครูก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ในเดือนมีนาคมนี้ และจะเปิดให้เป็น วิชาเลือก สำหรับนักเรียนต่อไปด้วย

ในบ้านเรานั้น แม้จะยังไม่ได้เปิดหลักสูตร หรือสาขาวิชาสกุลเงินดิจิทัล แต่เริ่มเห็นการตื่นตัวของมหาวิทยาลัย โรงเรียน ที่เริ่มจัดโครงการ การเสริมความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาในหลายแห่งแล้ว

Advertisement

ร.ท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า มม.ส่งเสริมนักศึกษาให้เรียนรู้ทักษะทางการเงินอย่างครบวงจร ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จากการจัดให้มีโครงการ MU Stock Challenge ฝึกให้นักศึกษาได้เรียนรู้การลงทุนซื้อ-ขายหุ้น โดยทดลองจัดสรรเงินทุนให้นักศึกษาได้ฝึกบริหารจัดการในตลาดหุ้นจำลอง ที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตามสถานการณ์จริง โดยในปีนี้ ได้วางแผนเชิญบุคคลผู้มีอาชีพมั่นคง และประสบความสำเร็จในเส้นทางของการลงทุน มาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์กับนักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี ระบุว่า ความรู้เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัลนั้น ได้มอบหมายให้ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ จัดการเรียนการสอน เพราะ ขณะนี้นิสิตสนใจจำนวนมาก แต่อาจารย์อาจมีความรู้ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไม่ได้จัดทำเป็นหลักสูตร แต่ทำในลักษณะการอบรมออนไลน์ ที่เข้ามาเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดจำนวนคน

ในระดับมัธยมศึกษานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency แก่นักเรียนในช่วงปลายปี 2564

นายพชร จันทร์ศิริ หัวหน้ากลุ่มสาระการงานอาชีพ โรงเรียนอัสสัมชัญ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของกลุ่มสาระการงานอาชีพ คือเตรียมพร้อมให้เด็กเข้าสู่อาชีพที่ต้องการในอนาคต โดยบริบทของโรงเรียนพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพธุรกิจอยู่แล้ว ดังนั้น การเรียนการสอนเรื่องการงานอาชีพในระดับมัธยมปลาย จะเตรียมพร้อมด้านธุรกิจให้นักเรียน ปัจจุบันจะเห็นว่าเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency เป็นนวัตกรรมที่จะมาดิสรัปชั่น และเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะเตรียมพร้อมเด็กสู่โลกอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency โดยจัดกิจกรรมให้เด็กที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งหลังจากเปิดโครงการเฟสแรก มีเด็กเข้าร่วม 300-400 คน

เฟสแรกเป็นการให้ความรู้นักเรียนว่าเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency คืออะไร จะประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง หลังจากที่ให้ความรู้กับเด็กที่สนใจแล้ว จะสอบถามเด็กๆ ว่าสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ แล้วโรงเรียนจะจัดหลักสูตร หรือหาวิทยากรมาเทรนให้ โดยในปีการศึกษา 2565 จะเปิดรายวิชาใหม่ชื่อว่า วิชาการวางแผนทางการเงินและการลงทุน สอนนักเรียนชั้น ม.5 และ ม.6 โดยจะสอนการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนในหุ้น การลงทุนตราสาร และการลงทุน Cryptocurrency เป็นต้น นายพชรกล่าว
สำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนทั่วประเทศนั้น

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความรู้เรื่องการเงิน การธนาคารอยู่แล้วโดยจะสอนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งอยู่ที่ครูจะหยิบยกเทรนด์ที่เป็นกระแสในปัจจุบันมาสอนหรือไม่ ครูสามารถนำเรื่องคริปโทฯ สกุลเงินดิจิทัล เข้ามาสอนเด็กในชั้นเรียนได้ แต่ครูต้องไม่ทิ้งหลักการ และทฤษฎีที่สำคัญของวิชานั้นๆ

เพราะระบบการศึกษายุคนี้ต้องเปลี่ยน แปลงให้ทันตามกระแสโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image