‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ลุยบัญชีบริหารหลายสกุลเงิน ช่วยธุรกิจนำเข้า-ส่งออกยุคดิจิทัล

‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ลุยบัญชีบริหารหลายสกุลเงิน ช่วยธุรกิจนำเข้า-ส่งออกยุคดิจิทัล

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจนำเข้าและส่งออก มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนภาคธุรกิจนำเข้าและส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาเติบโตได้ถึง 127% ท่ามกลางสถานการณ์โควิด ซึ่งถือได้ว่าธุรกิจนำเข้าและส่งออก เป็นธุรกิจที่ช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ธุรกิจนำเข้าและส่งออกมีอัตราการเติบโตถึง 12 % ส่งผลให้ GDP โดยภาพรวมของประเทศไทยในช่วงนั้น จากติดลบ 7% มาเป็นเติบโตได้ 4% และในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจนำเข้าและส่งออกก็ยังเติบโตได้ถึง 23% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP โดยภาพรวมของประเทศไทย จากติดลบ 6% มาเป็นเติบโตได้ 1%

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% ด้วยปัจจัยหนุนทั้งจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง การส่งออกที่เติบโตดี และการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง ttb analytics คาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 2565 ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 4.5% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงานและปัญหา Supply Disruption คาดว่าจะผ่อนคลายในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1.8%

สำหรับตลาดเงินนั้น มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ในระดับ 0.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเด็นเงินเฟ้อและการระบาดของโควิด-19 ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา คาดการณ์กรอบเป้าหมายเงินบาทในปี 2565 ที่ระดับ 33.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงตลอดปีจากกระแสเงินทุนภายในและภายนอกประเทศ

นายศรัณย์ กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั่วโลก อีกทั้งผู้ประกอบการไทยที่มี Natural Hedge ลดลง (การบริหารรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน) รวมถึงการซื้อ-ขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ยังคงเน้นใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่น ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จึงเริ่มหันมาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็ยังมีความยุ่งยาก เนื่องจาก หนึ่งบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) รองรับได้หนึ่งสกุลเงิน ดังนั้นหากผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยมีคู่ค้าหลายประเทศ บนหลายสกุลเงิน จำเป็นต้องเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี

Advertisement

ทีเอ็มบีธนชาต เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ จึงได้พัฒนาดิจิทัลโซลูชันทางการเงิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก เพื่อลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการหลายสกุลเงิน คือ ttb multi-currency account หรือ บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุด เพื่อธุรกิจนำเข้าและส่งออก ยกระดับประสบการณ์การใช้งานดิจิทัล ครบทุกขั้นตอน แบบ end-to-end อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง บริหารงานสะดวก ใช้งานง่าย ครบ จบในระบบเดียว โดยปัจจุบันทีเอ็มบีธนชาตประสบความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้อย่างมาก และคาดว่าในปี 2565 นี้จะสามารถเพิ่มจำนวนบัญชีได้อีก 400-500 บัญชี

“ทีเอ็มบีธนชาต เชื่อมั่นว่า ttb multi-currency account จะเป็นบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุด เพื่อธุรกิจนำเข้าและส่งออก ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน และพร้อมเป็นพันธมิตรที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจลูกค้าในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ลูกค้าธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน” นายศรัณย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image